25.6 C
Nakhon Sawan
วันอังคาร, พฤศจิกายน 28, 2023
spot_img

นิติเสวนา

หลักแนวคิดทฤษฎีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ มีการปฏิรูประบบราชการ เพื่อให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศและให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งการบริหารราชการและการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการนี้ ต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เกินความจำเป็น และประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ รวมทั้งมีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ขึ้น

ความเป็นมาของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี วิวัฒนาการมาจากหลักพื้นฐานและยุทธศาสตร์ที่สังคมโลกต้องการให้เกิดขึ้นและนำมาใช้เพื่อลด บรรเทา และแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการฉ้อราษฎร์บังหลวง ช่วยสร้างคุณค่าและจิตสำนึกทางปัญญาวัฒนธรรมและจริยธรรมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม มีความโปร่งใสได้รับการยอมรับและเชื่อถือมีการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งมีเสถียรภาพ มีความมั่นคงปลอดภัยทุกภาคส่วนของสังคมท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (วิไลวรรณ เรืองโสม และบุญเหลือ บุบผามาลา, 2565) ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลของประเทศต่างๆ เริ่มไม่พอใจกับระบบราชการที่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อการท้าทายของกระแสโลกาภิวัตน์ได้ประกอบกับการเผชิญ กับภาวะวิกฤตการคลัง เมื่อระบบราชการต้องเผชิญกับปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งสร้างแรงกดดันให้ภาครัฐ ประเทศต่าง ๆ ต้องหันมาพิจารณาตัวเองว่าจะปรับตัวอย่างไรท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เป็นแรงผลักให้เกิดการปฏิรูประบบราชการขึ้น เพื่อลดขนาดราชการ มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพ การวัด คุณค่าการกระจายอำนาจการสละอำนาจและการให้บริการด้วยระบบตลาดและเทคนิคการบริหาร จัดการสมัยใหม่การปฏิรูประบบราชการลักษณะนี้นิยมเรียกว่า “การจัดการภาครัฐแนวใหม่” (New Public Management: NPM) มุ่งเน้นการปฏิรูปการบริหารงานภาครัฐเพื่อการบริการประชาชน (นรีรัตน์ แจ่มจรัส, 2565) ทุกประเทศมีแนวทางการปรับปรุงการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี (Good Governance) ที่เป็นจุดร่วมเหมือนกัน คือ ความสงบสุขของประชาชน ความมีเสถียรภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง มีการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลเท่าทันโลก อันนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยนำแนวความคิดเรื่องธรรมาภิบาลเป็นแนวความคิดที่ธนาคารโลก (World Bank) ได้เสนอให้แก่กลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาตั้งแต่ปลายปี 1989 ) (วิไลวรรณ เรืองโสม และบุญเหลือ บุบผามาลา, 2565) ประเทศไทยได้นำแนวคิดเรื่องการจัดการภาครัฐแนวใหม่และหลักธรรมาภิบาลมาพัฒนาและใช้ในการปฏิรูปการเมือง โดยได้วางรากฐานไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ต่อมาได้มีการออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้การปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และเพื่อเป็นการขยายความวิธีการปฏิบัติการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี จึงจำเป็นต้องตามพระกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ขึ้น (จิรันดา บุญบรรจง, 2565)

          มาตรา 6 การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ได้แก่ การบริหารราชการเพื่อบรรลุเป้าหมาย ดังต่อไปนี้

1) เกิดประโยชน์สุขของประชาชน หมายถึง “การปฏิบัติราชการที่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความผาสุกและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ความสงบและปลอดภัยของสังคมส่วนรวม ตลอดจนประโยชน์สูงสุดของประเทศ

2) เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ หมายถึง “การดำเนินงานต้องจัดทำแผนการปฏิบัติงาน กำหนดแผนปฏิบัติงาน การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กรณีเกิดผลกระทบต่อประชาชนต้องมีการปรับปรุงแก้ไข

3) มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ หมายถึง “การกำหนดเป้าหมาย แผนการทำงาน ระยะเวลาแล้วเสร็จ งบประมาณ และการจัดทำบัญชี

4) ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น หมายถึง “การจัดให้มีอำนาจในการตัดสินใจ ให้เกิดความรวมเร็วและลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการบริการประชาชน และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศตามความเหมาะสม มีแผนภูมิขั้นตอนและระยะเวลาการดำเนินการ

5) มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์ หมายถึง “การทบทวนความจำเป็นของภารกิจและความคุ้มค่า การปรับปรุงอำนาจหน้าที่ โครงสร้าง และอัตรากำลังให้สอดคล้องกัน และดำเนินการยกเลิก ปรับปรุง หรือจัดให้มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศขึ้นใหม่ให้ทันสมัยและเหมาะสม

6) ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ หมายถึง “การบริการประชาชนต้องกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จและประกาศให้ประชาชนทราบ มีระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่จะสามารถติดต่อสอบถามหรือขอข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็น

7) มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ หมายความว่า มีการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามแผนโดยคณะผู้ประเมินอิสระ เกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ของภารกิจ คุณภาพการให้บริการ ความพึงพอใจของประชาชนผู้รับบริการ ความคุ้มค่าในภารกิจ

แสดงให้เห็นว่าหลักแนวคิดทฤษฎีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นแนวมาตรฐานการปฏิบัติราชการตามแนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่และดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาล มีจุดมุ่งหมายเพื่อการปฏิรูประบบราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามภารกิจของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ซึ่งเราอาจพิจารณาคำว่าการสนองต่อความต้องการของประชาชน ประชาชนในสังคมไทยมีความแตกต่างกัน อาจทำให้เกิดช่องว่างและปัญหาความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นการบริหารจัดการภาครัฐควรคำนึงถึงความเป็นธรรมและประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ มากกว่าการอาศัยอำนาจทางการเมืองในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว การกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างลงตัว

 

 

ผศ.ปองปรีดา ทองมาดี

อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์

 

หมายเหตุ – pacharee_cpu@hotmail.com

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด