32.3 C
Nakhon Sawan
วันอังคาร, พฤศจิกายน 28, 2023
spot_img

สภาอุตสาหกรรมฯ สัมพันธ์

ผู้อ่านสวรรค์นิวส์และสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์…………………………………….. @ ขอเชิญสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ สถานประกอบการในจังหวัดนครสวรรค์ ร่วมตอบแบบสอบถามโครงการสำรวจค่าจ้างภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำข้อมูลไปประมวลผลแนวโน้มโครงสร้างค่าจ้างภาคอุตสาหกรรมในปี 2567 รายงานข้อมูลจากการประมวลผล จะส่งกลับให้แก่ผู้ที่ร่วมตอบแบบสอบถามเท่านั้น โดยผู้ประกอบการสามารถใช้ผลจากการสำรวจเพื่อประโยชน์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล สามารถตอบแบบสำรวจได้ที่ https://forms.gle/StxUAas9ZZi7bJqN9 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายกฎหมาย ศรัณยา โทร. 02-345-1035 / 086-625-4687 สาวิตรี โทร. 02-345-1037 / 081-173-3790

…………………………………….. @ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เข้าร่วมการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเสนอแนวทางความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดย ส.อ.ท. ตอบรับนโยบายวิทยาศาสตร์แก้จน โดยให้เอกชนนำและรัฐบาลสนับสนุนกระทรวง อว. และได้นำเสนอความท้าทายที่อุตสาหกรรมการผลิตกำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งส่งผลให้วัยทำงานมีจำนวนลดน้อยลง และในเรื่องของกับดักรายได้ประเทศปานกลาง ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตต้องหันมาลดต้นทุน และสร้างนวัตกรรมกันมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ แนวทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. จึงมุ่งเน้นการขับเคลื่อนทั้งอุตสาหกรรมเดิม (First Industries) ที่ประกอบด้วย 46 กลุ่มอุตสาหกรรม (11 คลัสเตอร์) และอุตสาหกรรมใหม่ หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries) ที่ประกอบด้วย 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curves) การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ คือ BCG (Bio-Circular-Green Economy) รวมถึงการจัดตั้งกองทุนอินโนเวชั่น วัน (Innovation One) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืนต่อไป ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้มีส่วนขับเคลื่อนและสนับสนุนโยบายของกระทรวง อว. มาโดยตลอด เช่น การทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการจัดงาน TRIUP Fair เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ในองค์กร การทำงานร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในการพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise : IDEs) ขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรมและยกระดับบริษัทเอกชนขนาด S M และ L ให้ไปสู่ IDE รวมถึงการทำงานร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) ในการส่งเสริมให้ Startup ผลิตเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมผลิต เพื่อขยายธุรกิจในรูปแบบ B2B เป็นต้น

…………………………………… @ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 34 ในเดือนตุลาคม 2566 ภายใต้หัวข้อ “เรื่องใดที่ภาคอุตสาหกรรมอยากเห็นในแผนการใช้งบประมาณปี 2567” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีความกังวลต่อผลกระทบของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ล่าช้า และอาจส่งผลกระทบต่อการนำงบประมาณไปดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวแล้ว จากการประเมินของ สศช. GDP ไตรมาสที่ 2/2566 ที่ผ่านมา ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.8 ชะลอลงจากร้อยละ 2.6 ในไตรมาสที่ 1/2566 แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ด้วยข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลาและเงื่อนไขต่างๆ อาจทำให้การจัดสรรงบประมาณฯ ไม่สามารถตอบโจทย์ในการลงทุนสร้างเศรษฐกิจในระยะยาวได้ จากผลสำรวจยังพบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ คาดหวังให้รัฐบาลให้ความสำคัญและจัดสรรงบประมาณใช้จ่ายที่เน้นการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว อาทิ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมแบบมุ่งเป้าทั้งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม รวมทั้ง การลงทุนด้านการจัดการน้ำทั้งระบบเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้งและอุทกภัยในระยะยาว ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต เมื่อถามถึงสิ่งที่ภาครัฐควรปรับการจัดทำงบประมาณและการใช้จ่ายงบประมาณในระยะยาว พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. แนะนำให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบูรณาการวางแผนงบประมาณเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงาน มีการพัฒนาและนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการติดตามวัดผลประสิทธิภาพของการใช้จ่ายงบประมาณควบคู่กับการเปิดเผยข้อมูลให้มากขึ้น รวมถึงเร่งพัฒนากลไกการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ เช่น ปรับโครงสร้างภาษี, สร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจเข้ามาในระบบภาษี (E-Tax Invoice, E-Withholding TAX) เป็นต้น

…………………………………… @ สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมี เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยร่วมในการแถลงข่าว ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จากสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส เป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ต่อเศรษฐกิจโลก สงครามส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลก หากสงครามรุนแรงและขยายวงกว้างไปถึงประเทศที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบอาจพุ่งสูงแตะระดับ 140-150 ดอลลาร์ฯ ต่อบาเรลได้ อย่างไรก็ตาม หากอยู่ในวงจำกัด คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะยังอยู่ต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาเรล และเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะกระทบ 0.1-0.3% เท่านั้น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากสงครามจะผ่านช่องทางการค้า การท่องเที่ยว และราคาพลังงานยังไม่มากนัก ไทยมีการค้ากับอิสราเอล ปาเลสไตน์ และประเทศรอบข้างเพียง 1.5 พันล้านดอลลาร์ฯต่อปี หรือต่ำกว่า 0.3% ของการค้าระหว่างประเทศ และมีนักท่องเที่ยวราว 2 แสนคนต่อปี หรือต่ำกว่า 1% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่หากขยายวงกว้าง อาจกระทบกับการค้ากับตะวันออกกลางโดยรวม ซึ่งคิดเป็น 4% ของการส่งออกของไทยและกระทบกับต้นทุนนำเข้าพลังงาน ซึ่งเป็นภาระการคลัง และค่าครองชีพของผู้บริโภค การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยฟื้นชะลอลง กำลังซื้อของครัวเรือนไทยเริ่มแผ่วลง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มอยู่ที่ 28-29 ล้านคน น้อยกว่าประมาณการเดิมที่ 29-30 ล้านคน อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายมาตรการยกเว้นการขอวีซ่านักท่องเที่ยวเพิ่มเติมให้กับอินเดียและไต้หวันในช่วง High season รวมทั้งแรงหนุนจากมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนของภาครัฐ จะช่วยประคองเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้

กกร. ขอบคุณรัฐบาลที่ได้มีมาตรการลดค่าครองชีพและต้นทุนผู้ประกอบการ ทั้งค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน ในช่วงที่ผ่านมา กกร. หวังว่ารัฐบาลจะเดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนพลังงานของประเทศในระยะยาว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติมต่อนโยบายรัฐบาล ดังนี้

  1. กกร. เห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระเป๋าเงินดิจิทัล เพื่อช่วยประคับประคองกำลังซื้อภายในประเทศ และควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายและผลลัพธ์ที่คาดหวังให้ชัดเจนในการเข้าร่วมโครงการ และควรใช้ระบบเดิมที่มีเสถียรภาพ ปลอดภัย และประชาชนมีความคุ้นชิน เน้นไปที่การต่อยอดและไม่ลงทุนซ้ำซ้อน รวมทั้งควรมีการส่งเสริมให้เกิดการซื้อสินค้าที่มีการผลิตในประเทศ เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนและต่อเนื่องให้กับกลุ่มเป้าหมาย เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและศักยภาพของประเทศ พร้อมทั้งสอดประสานกับนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ ให้เกิดความต่อเนื่อง และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจไทย
  2. ในส่วนของนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กกร. เห็นว่าเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง และผู้ประกอบการยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว จึงควรพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องตามสภาพเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ โดยใช้กลไกของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีของแต่ละจังหวัดเป็นหลัก รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานตามทักษะ (Pay by Skill) เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานควบคู่ไปกับประสิทธิภาพแรงงาน (Productivity) โดยที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินโครงการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแล้ว 88 สาขาวิชาชีพ เช่น ช่างเชื่อมโลหะ ช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักร ช่างประกอบยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งได้เริ่มทดสอบไปแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องจำนวนศูนย์ทดสอบ เครื่องมือที่ไม่เพียงพอ 100 จึงไม่สามารถดำเนินโครงการได้เต็มศักยภาพ

…………………………………….. @ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ผนึก 4 หน่วยงาน ได้แก่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand: MiT) ในภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ ยังมีการจัด“พิธีมอบโล่หน่วยงานภาครัฐต้นแบบที่มีการจัดซื้อสินค้า MiT สูงสุด” ประจำปี 2565 เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า “โครงการ Made in Thailand เป็นสิ่งที่ ส.อ.ท. ผลักดันมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา เรามุ่งหวังว่าการส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย จะเป็นการผลักดันการผลิตของไทยให้มีความเข็มแข็ง จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล – ฮามาส ที่เกิดขึ้น ทำให้โลกกำลังเสี่ยงกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการพึ่งพาตลาดนำเข้า-ส่งออกมากจนเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยได้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวและต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดโลกที่มีความผันผวนสูง จึงมุ่งมั่นในการส่งเสริมให้เพิ่มการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม (Strengthen Thai Industries for Stronger Thailand) ตามนโยบาย ONE FTI ของ ส.อ.ท.” ส.อ.ท. และกรมบัญชีกลางร่วมกันผลักดันผ่านกฎกระทรวง และสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐซื้อสินค้าไทย ปัจจุบันโครงการ MiT มีผู้ประกอบการมาขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 5,000 กิจการ จำนวนสินค้ามากกว่า 50,000 รายการ ครอบคลุมในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขึ้นทะเบียนรับรอง MiT สูงสุด 5 ลำดับแรกคือ อุปกรณ์งานก่อสร้าง ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก ปูนซีเมนต์ และเครื่องปรับอากาศ และอื่นๆ ได้แก่ สินค้าและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จากรายงานผลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในปีงบประมาณ 2565 บริษัทที่ขอรับรอง MiT ได้รับงานทั้งจัดซื้อและจัดจ้างกว่า 1,600 กิจการ คิดเป็นมูลค่าเงินที่ใช้ทำสัญญา 102,000,000,000 บาท (หนึ่งแสนสองพันล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนการใช้สินค้า MiT 15% ของงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้าง ส่งผลให้เกิดการกระจายเม็ดเงินสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับ SMEs ถึงรากหญ้าต่อไป และช่วยเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากภาครัฐสู่ผู้ประกอบการ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ส.อ.ท. และ 4 หน่วยงานหลักสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในวันนี้ มีเป้าหมายหลักเพื่อให้โครงการ Made in Thailand (MiT) ได้ดำเนินงานไปอย่างยั่งยืน และความร่วมมือนี้ จะช่วยส่งเสริมให้มีการใช้สินค้า MiT ในภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ภายในงาน ยังมีการมอบโล่ขอบคุณ 10 หน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย กรมชลประทาน ,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ,การไฟฟ้านครหลวง ,การประปานครหลวง ,กองทัพบก ,กรมทางหลวง ,โรงพยาบาลสระบุรี ,กรุงเทพมหานคร ,สำนักงานศาลยุติธรรม และการประปาส่วนภูมิภาค ที่เป็นต้นแบบนำร่องการจัดซื้อด้วยวิธี e-bidding เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองสินค้า MiT ได้รับสิทธิประโยชน์ในการแข่งขันราคาเพิ่มขึ้น 5% อย่างแท้จริง อันจะเป็นการเพิ่มโอกาสและเพิ่มสัดส่วนให้หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนสินค้า MiT มากขึ้นต่อไป

…………………………………….. @ ขอเชิญเข้าร่วมงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 สถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) ภายใต้หัวข้อ “35 ปี GS1 THAILAND มุ่งมั่น ก้าวหน้า เพื่อพัฒนาไทย ให้ยั่งยืน” พบกับเนื้อหาความรู้มากมายจากทีมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ 🔸การใช้เทคโนโลยีบาร์โค้ด 2 มิติอย่างไร ให้ชนะใจผู้บริโภค 🔸ซอฟท์แวร์บริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) สำหรับธุรกิจ B2B โดยเฉพาะให้เข้ากับยุคดิจิทัล🔸การนำบาร์โค้ด มาประยุกต์การใช้งานในอุตสาหกรรมการผลิต 🔸เจาะลึกเทคนิคพิชิตตลาด Amazon เยี่ยมชมบูธแสดงเทคโนโลยีและบริการจากหน่วยงานพันธมิตร และรับบัตรเยี่ยมชมงาน Metalex 2023 🎁 พิเศษ! ร่วมฉลองครบรอบ 35 ปี สถาบันรหัสสากล ลุ้นรับ “ทองคำแท่ง” หนัก 1 บาท และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย กำหนดจัดในวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2566 เวลา 08.30-15.30 นาฬิกา ณ ห้องภิรัชฮอลล์ 1-2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ลงทะเบียนได้ที่ https://bit.ly/3FjWPgR

……………………………@ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการตรวจสุขภาพพนักงานประจำปี 2567 ลดค่าใช้จ่าย > 30% พร้อมพิเศษ ฟรี! ประกันอุบัติเหตุแบบกลุ่ม สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการฯ เปิดรับสมัคร : วันที่ 15 กันยายน – 15 ธันวาคม 2566 เริ่มตรวจสุขภาพ : เดือนมกราคม – ธันวาคม 2567 กลุ่มเป้าหมาย : สมาชิกประเภทสามัญ – โรงงาน (สน) เท่านั้น**หมายเหตุ : สมาชิกประเภทสมทบ – นิติบุคคล (ทน) ต้องเป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด และได้รับการรับรองจากสภาฯ จังหวัดหรือกลุ่มอุตสาหกรรมฯ เท่านั้น สามารถสมัครเข้าร่วมและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://bm.fti.or.th/ftihealthcheckup2024/ สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ โครงการตรวจสุขภาพ Call Center 1453 กด 3 หรือ 1120 Tel. 086-329-1978 หมายเหตุ : (1) บริษัทที่ยื่นแบบตอบรับเข้าร่วมโครงการฯ จะ “ไม่สามารถขอยกเลิกเข้าร่วมได้” ยกเว้น กรณีราคาตรวจสุขภาพของโครงการฯมีราคารวมเฉลี่ยสูงกว่า ราคาของบริษัทที่ท่านจัดหาเองและจะต้องเป็นโรงพยาบาลที่รับสิทธิประกันสังคมเท่านั้น (ปรับปรุงวันที่ 15 ก.พ. 66) (2) กรณีที่ส่งแบบตอบรับมาทาง e-mail หากไม่ได้รับการตอบกลับ e-mail ภายใน 5 วันทำการ โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่โครงการฯ มิฉะนั้น ทางโครงการฯ จะถือว่าไม่ได้รับเอกสารจากท่าน และไม่สามารถเรียกร้องสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น (3) บริษัทที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องยินยอมให้พนักงานตรวจสอบสิทธิ์และใช้สิทธิ์เบิกประกันสังคมของโครงการฯ……………………………@ หน่วยงานที่มีข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดนครสวรรค์ สามารถฝากข่าวผ่านสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ หรือต้องการสมัครเป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ติดต่อสอบถามได้ที่ นายชาณัฐธนพล  แสงสุข ผู้จัดการสำนักงานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ โทรศัพท์056-245497,081-0428 934 โทรสาร 056-245 498 e-mail: nakornsawan.fti@gmail.com, https://www.facebook.com/Nakhonsawan.fti

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด