เมื่อบุคคลได้มีโอกาสพบกันเป็นครั้งแรก ความประทับใจระหว่างกันจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้นย่อมขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพที่แต่ละคนแสดงออกมา จึงอาจกล่าวได้ว่าบุคลิกภาพนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อบุคคลในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านการศึกษา ด้านส่วนตัว และชีวิตการทำงาน โดยเฉพาะสังคมไทยนั้นได้ให้ความสำคัญกับการพิจารณาบุคลิกภาพมาเป็นเวลาช้านานแล้ว โดยเชื่อกันว่าลักษณะที่มองเห็นจากรูปลักษณ์ภายนอกนั้น สามารถบ่งบอกถึงนิสัยใจคอของบุคคลแต่ละคนได้ ซึ่งอาจจะพิจารณาได้จากสำนวนไทยหลาย ๆ สำนวน อาทิ คนที่ผมหยิก หน้ากร้อ คอต้อ คิ้วสั้น ฟันขาว หรือไทยตัวเล็กเจ๊กตัวดำ และคนหลายเสียง บุคลิกเหล่านี้เป็นลักษณะของคนที่ไม่ควรคบ เป็นต้น
บุคลิกภาพ หมายถึง ลักษณะที่แสดงออกมาทั้งภายนอกและภายในของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน อันเป็นผลมาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของบุคคลไปในที่สุดนั่นเอง ส่วนความสำคัญของบุคลิกภาพ ปัจจุบันสังคมให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของบุคลิกภาพเป็นอย่างมาก เพราะเชื่อว่าบุคลิกภาพที่ดีสามารถสร้างโอกาสและความสำเร็จในชีวิตให้กับบุคคลได้โดยไม่ยากนัก ทั้งนี้เนื่องจากถึงแม้จะเป็นผู้ที่มีความสามารถสูง แต่หากมีบุคลิกภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง มีการวางตัวในสังคมที่ไม่เป็นที่ยอมรับ แต่งกายไม่ถูกต้องตามกาลเทศะ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในชีวิตได้เช่นกัน
ด้วยเหตุนี้เองในปัจจุบันจึงมีการก่อตั้งสถาบันเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลิกภาพต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมายเพื่อเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนและการฝึกอบรมพัฒนาบุคลิกภาพทั้งทางการปฏิบัติตัว การแสดงกิริยาท่าทางต่าง ๆ รวมทั้งการแต่งกาย การนั่ง การยืน การเดิน การพูด การรับประทานอาหาร เป็นต้น เพื่อให้บุคคลที่ต้องการพัฒนาตนเองได้เรียนรู้การแสดงออกอย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นที่ยอมรับของสังคม จนอาจนำไปสู่ความสำเร็จทั้งด้านการศึกษาเล่าเรียน การทำงานและชีวิตส่วนตัว จึงอาจสรุปได้ว่า บุคลิกภาพที่เหมาะสมย่อมมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดอนาคตและความสำเร็จของบุคคลได้
สำหรับบุคลิกภาพนั้นเป็นภาพรวมทั้งหมดของแต่ละบุคคล โดยอาจสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1.บุคลิกภาพภายนอก (External Personality) หมายถึง ลักษณะเฉพาะของบุคคลที่สามารถสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ได้แก่ รูปร่างหน้าตา กิริยาท่าทาง การพูด ท่วงทีวาจา การเดิน การยืน การนั่ง การแต่งกาย ตลอดจนการแสดงมารยาทต่าง ๆ เป็นต้น
- บุคลิกภาพภายใน (Internal Personality) หมายถึง ลักษณะเฉพาะที่อยู่ภายในจิตใจของแต่ละบุคคลที่ได้สั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน บุคลิกภาพภายในนั้นเป็นผลมาจากการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัว จากสถานศึกษา ตลอดจนเกิดจากประสบการณ์ต่าง ๆ ที่บุคคลได้รับจนก่อตัวเป็นรูปแบบของ ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ความสนใจ ความถนัด ค่านิยม ทัศนคติ ความรู้ ความสามารถ สติปัญญา ปฏิภาณไหวพริบในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ความเชื่อมั่นในตนเอง ความซื่อสัตย์สุจริต ความกระตือรือร้น ความรับผิดชอบ เป็นต้น บุคลิกภาพภายในนั้นเป็นสิ่งที่เห็นได้ยากจึงต้องอาศัยการสังเกตพอสมควร บุคลิกภาพภายในบางอย่างอาจสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ แต่บางอย่างที่ฝังลึกจนเป็นนิสัยแล้วก็เป็นเรื่องยากต่อการที่จะปรับเปลี่ยนยกเว้นผู้นั้นจะมีความตั้งใจจริง นอกจากบุคลิกภาพจะถูกจำแนกได้เป็นบุคลิกภายนอกและภายในแล้ว บุคลิกภาพยังอาจแบ่งได้เป็นอีก 2 ลักษณะ ดังนี้ 1.บุคลิกที่เหมาะสม หมายถึง บุคลิกภาพที่เมื่อแสดงออกมาแล้วได้รับการยอมรับของบุคคลทั่วไปในสังคม ซึ่งอาจเริ่มขึ้นตั้งแต่ยังไม่ได้มีการพูดคุยสนทนากัน บุคลิกภาพที่ดีนั้นอาจได้รับการประเมินเบื้องต้นมาจากบุคลิกภาพภายนอกที่ได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา การแต่งกาย ทรงผม การพูดจา รวมทั้งการแสดงออก ทั้งการเดิน การยืน การนั่ง ซึ่งถ้าเป็นไปในลักษณะที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว ย่อมสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกพบ (first impressions) ได้โดยทันทีนอกจากนี้ยังรวมไปถึงบุคลิกภาพภายใน อาทิ อุปนิสัยใจคอ และทัศนคติต่าง ๆ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนสนใจอยากทำความรู้จักมากยิ่งขึ้น สำหรับลักษณะของบุคลิกภาพที่มีความเหมาะสมนั้น ได้แก่
- มีท่าทางกิริยาสง่างาม กระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว ว่องไว
- มีสุขภาพสมบูรณ์ ร่างกายแข็งแรง
3.มีความสามารถปรับตัวเข้ากับบุคคล สังคม สิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสมในทุกกาลเทศะมีสัมพันธภาพอันดีกับบุคคลทั่วไป
- เป็นคนที่มีเหตุผล ละเอียดอ่อน สุขุม รอบคอบ
5.มีความอดทน อดกลั้น มีกำลังใจกล้าแข็ง สามารถเผชิญกับปัญหาอุปสรรคและสถานการณ์คับขันต่าง ๆ โดยไม่หวั่นไหว
- เป็นตัวของตัวเอง กล้าคิด กล้าตัดสินใจ รู้จักพึ่งพาช่วยเหลือตัวเอง ไม่คอยแต่อาศัยผู้อื่น กล้ายอมรับความจริง กล้าเผชิญความจริง
7.มีความเชื่อมั่นในตนเอง สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว มีจิตใจมั่นคง บุคลิกเหล่านี้เป็นคุณลักษณะที่จำเป็นของผู้นำที่ดี
8.เป็นผู้มองโลกในแง่ดี
9.ไม่เห็นแก่ตัวเอาเปรียบผู้อื่น รู้จักช่วยเหลือแบ่งปัน
10.มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา
11.มีความกระตือรือร้น ใฝ่หาความรู้และรักความก้าวหน้า
12.มีกิริยามารยาท วาจา ท่าทาง สุภาพเรียบร้อย แสดงออกกับผู้อื่นได้เหมาะสม มีวาทศิลป์ในการพูด ให้เกียรติผู้อื่น เหล่านี้เป็นการสร้างความประทับใจและเป็นเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น
13.มีความสุขุม เยือกเย็น รู้จักควบคุมอารมณ์ มีสติ ไม่ตื่นเต้น หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ต่างๆ
- มีความร่าเริง สดชื่น ยิ้มแย้มแจ่มใส อารมณ์ดี ปรับตัวให้เข้ากับบุคคลทุกระดับ
15.รู้จักกาลเทศะ เวลาและสถานที่
16.มีความซื่อตรงสุจริต
17.ชอบแสวงหาประสบการณ์ที่หลากหลาย เข้าใจความเป็นจริงของโลกและชีวิต
2.บุคลิกภาพที่ไม่เหมาะสม หมายถึง ลักษณะพฤติกรรมการแสดงออกอันไม่พึงประสงค์ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ทั้งการแต่งกายที่ไม่สอดคล้องกับกาลเทศะ การยืน เดิน นั่ง ที่ไม่สุภาพ ใช้ภาษาและถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมกับบุคคลและสถานการณ์ รวมไปถึงอุปนิสัยบางประการอันไม่เป็นที่พึงปรารถนาของผู้อื่นด้วย อาทิ การมองโลกในแง่ร้าย การขาดความรับผิดชอบ เป็นต้น และสำหรับประโยชน์ของการมีบุคลิกภาพที่เหมาะสม การมีบุคลิกภาพที่เหมาะสมย่อมก่อนให้เกิดประโยชน์ต่อบุคคลหลายประการ ดังนี้
1.บุคลิกภาพมีผลต่อการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ผู้มีบุคลิกภาพที่ดี เช่น มีความรับผิดชอบ เสียสละ มีน้ำใจ เชื่อมั่นในตนเอง มีอารมณ์มั่นคง ให้เหตุมีผล มีกิริยามารยาทงดงามรู้จักกาลเทศะ บุคลิกภาพเหล่านี้ย่อมเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไปก่อนให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน สร้างความน่าเชื่อถือให้กับบุคคลอื่นได้ง่าย
2.บุคลิกภาพมีผลต่อความสำเร็จขององค์กร ผู้ที่มีบุคลิกภาพที่ดีจะได้เปรียบผู้อื่น ๆ เสมอ เพราะย่อมได้รับความเชื่อมั่นศรัทธาจากผู้ร่วมงาม รวมทั้งบุคคลที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ด้วย เช่น ถ้าบุคคลนั้นเป็นคนซื่อสัตย์รักษาคำพูด มีเหตุผล วางตนได้เหมาะสมตามกาลเทศะ อารมณ์มั่นคงมีน้ำใจ ขยันหมั่นเพียร ตรงต่อเวลา มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบใส่ใจในความรู้สึกผู้อื่น บุคคลประเภทนี้ย่อมจะได้รับความร่วมมือจากผู้อื่นเป็นอย่างดี ส่งผลให้งานที่ตนรับผิดชอบอยู่บรรลุเป้าหมายได้โดยง่าย แต่ถ้าบุคคลใดมีลักษณะในทางตรงกันข้าม คือไม่น่าเชื่อถือ ก็มักก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน ไม่ได้รับความไว้วางใจ ขาดศรัทธา ผู้ร่วมงานหลีกเลี่ยงที่จะร่วมงานด้วย การปฏิบัติงานไม่ราบรื่น ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับองค์กรได้
3.บุคลิกภาพมีผลต่อการเลือกสรร ดังที่มีผู้กล่าวไว้ว่าบุคลิกภาพดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ทั้งนี้เป็นเพราะผู้มีบุคลิกภาพที่ดีย่อมมีโอกาสที่จะก้าวหน้าและประสบความสำเร็จได้มากกว่า ทั้งการได้รับเลือกสรรให้เข้าทำงาน การเลื่อนตำแหน่ง การเข้าศึกษาต่อ ตัวอย่างเช่น สาวงามที่มีบุคลิกภาพดี มีปฏิภาณไหวพริบ มักจะได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งนางสาวไทยหรือนางงามจักรวาล เมื่อได้ตำแหน่งแล้วก็มีโอกาสเลือกงานตามที่ตนใฝ่ฝันหรือปรารถนาเอาไว้ได้โดยง่าย
4.บุคลิกภาพมีผลต่อการเลียนแบบของเยาวชน ผู้มีบุคลิกภาพดี นอกจากจะส่งผลต่อตนเองแล้วยังมีส่วนสำคัญต่อการเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเยาวชน ทั้งเป็นตัวแบบในการทำความดี การทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะถ้าผู้นั้นเป็นบุคคลสาธารณะ เช่น ดารา นักร้อง นักแสดงด้วยแล้ว เมื่อเยาวชนได้เห็นแบบอย่าง ย่อมมีความต้องการจะเลียนแบบหรือแสดงพฤติกรรมตามแบบบุคคลที่ตนชื่นชอบเหล่านั้น อันจะส่งผลให้เยาวชนมีพฤติกรรมที่เหมาะสมตามที่สังคมคาดหวังต่อไป
ดังนั้นจะเห็นว่าบุคลิกภาพเป็นส่วนประกอบสำคัญต่อชีวิตของมนุษย์อย่างมาก โดยอาจจะช่วยส่งเสริมหรือขัดขวางความสำเร็จในด้านต่างๆ ของคนๆ นั้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านการเรียน , การทำงาน , การเข้าสังคม เป็นต้น ถึงแม้ว่าคนๆ นั้นจะมีความรู้เก่งกาจ
แน่นอนว่าบุคลิกภาพที่ดีเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำงาน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เนื่องจากการยอมรับของสังคมนั้น จำเป็นต้องมีส่วนประกอบสำคัญคือ “บุคลิกภาพ”
เพราะฉะนั้น บุคลิกภาพ จึงเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลต่อการประสบความสำเร็จของคนๆ หนึ่ง เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ในการปรับตัวในการทำงานร่วมกับผู้อื่นและการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ
———————-
โดย อ.วรวุฒิ สุขะเสวก ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาวิริยาลัยนครสวรรค์