ในยุคที่ทุกคนมีสื่อโซเชียลอยู่ในมือ มีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในพื้นที่ของตัวเองได้อย่างอิสระ แต่รู้หรือไม่ว่าบางข้อความที่โพสต์ไป บางทีอาจจะพิมพ์แบบขำๆ สนุกๆ แต่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนหรือถูกเกลียดชัง อาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย “หมิ่นประมาท” แบบไม่รู้ตัว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดตามกฎหมาย และป้องกันความเสียหายเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต นิติเสวนาในฉบับนี้จึงนำความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทมาให้ความรู้แก่ท่านผู้อ่าน ดังนี้
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้ง จำทั้งปรับ
ข้อความที่ผู้กระทำผิดส่งไปยังบุคคลที่สาม ต้องมีลักษณะเป็นการ “ใส่ความ” ผู้เสียหาย
การใส่ความตามกฎหมาย หมายถึง การที่ผู้กระทำ “สื่อสารข้อมูล” ไปให้บุคคลที่สาม ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะเป็น “ความจริงหรือเท็จ” ถ้าข้อมูลนั้น “น่าจะ” ทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง “ก็ถือว่าเป็นการใส่ความ”
การใส่ความน่าจะทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หมายถึง การถูกลดคุณค่าหรือความน่าเชื่อถือ ความน่าคบค้าสมาคมจากคนอื่น ๆ ในสังคม ข้อความที่ใส่ความนั้น ไม่จำเป็นต้องเกิดผลทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ขึ้นจริง ๆ ถึงแม้บุคคลที่สามรู้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้วว่าเรื่องที่ใส่ความไม่ใช่เรื่องจริง ก็ยังถือเป็นความผิดเพราะหลักที่สำคัญ ข้อความที่เป็นการใส่ความ “น่าจะ” ทำให้ผู้เสียหายอาจจะเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ก็ถือว่าครบองค์ประกอบความผิดแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นจริง โดยศาลสามารถวินิจฉัยได้เอง จากพฤติการณ์ในคดี ไม่ได้ถือเอาตามความเข้าใจของผู้เสียหาย ผู้กระทำความผิด หรือพยานคนใดคนหนึ่ง
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3920/2562
“ข้อความที่จำเลยกล่าวจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่วไป เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความที่กล่าวถึงถึงขั้นทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาท น่าจะเสียชื่อเสียง บุคคลอื่นดูหมิ่น เกลียดชังหรือไม่ ไม่ใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียว”
การพิจารณาข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาท ต้องพิจารณาจากข้อความทั้งหมด ประกอบบริบทของการกระทำ จะหยิบยกมาพิจารณาเฉพาะแต่คำใดคำหนึ่ง หรือตอนใดตอนหนึ่งไม่ได้ เพราะข้อความทั้งเรื่องย่อมเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน แสดงให้เห็นถึงความหมายที่แท้จริงของข้อความทั้งหมด การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เป็นเพียงการคาดเดา หรือคาดคะเน หรือทำนายอนาคต แต่…เป็นการแสดงความเห็นว่า “น่าจะ” เป็นอย่างนี้ โดยไม่สุจริต
ตัวอย่าง : แสดงความเห็นว่า น.ส. C น่าจะผ่านผู้ชายมาหลายคน ย่อมเป็นการชี้ให้เห็นว่า น.ส. C เป็นคนไม่ดี เป็นหมิ่นประมาทได้ เรื่องที่ใส่ความต้องเป็น “เรื่องที่ชัดเจนและเป็นไปได้” ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันหรือจิตนาการ เรื่องเลื่อนลอย หรือเป็นความเชื่อเท่านั้น
การหมิ่นประมาทนั้นจะเป็นคำหยาบหรือคำสุภาพนั้น ไม่ใช่ประเด็น เพราะไม่จำเป็นว่าการหมิ่นประมาท ต้องใช้คำก้าวร้าว หยาบคาย แม้เป็นคำสุภาพก็อาจจะเป็นหมิ่นประมาทได้ เช่น ไม่อุทิศเวลาให้ราชการ มาสายประจำ รับเงินเขามาแล้วไม่ทำงาน ผ่านผู้ชายมาหลายคน แต่….ในทำนองกลับกันข้อความที่เป็นการก้าวร้าวหยาบคายก็อาจจะไม่เป็นการหมิ่นประมาท แต่เป็นเพียงการ “ดูหมิ่น”
อาจารย์นันทิกา บุญอาจ
อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา