การให้อภัย เป็นยาขนานวิเศษอีกตัวหนึ่งที่สามารถช่วยเยียวยาจิตใจของเราได้ เมื่อเรารู้สึกโกรธแค้นใคร คนที่ทุกข์ใจที่สุดก็คือตัวเราเอง ยิ่งเรายึดติดกับความโกรธแค้นนั้นมากเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลเสียต่อตัวเราเองมากเท่านั้น ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะปล่อยวางและให้อภัย จึงมีผลดีต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตของเราอย่างมาก
มนุษย์แต่ละคนมีการมองโลก และตีความเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูและประสบการณ์ของบุคคลนั้นๆ ซึ่งเรามักหลงลืมความจริงในข้อนี้ และด้วยความแตกต่างของมุมมอง บ่อยครั้งจึงทำให้เป็นสาเหตุของความบาดหมางเกิดขึ้นได้ เรามักจะรู้สึกเจ็บปวดและเสียใจจากการกระทำของคนที่เรารักและแคร์ มากกว่าคนอื่นทั่วไป เพราะเรามีความรู้สึกต่อคนๆ นั้นมากๆ
การเรียนรู้ที่จะให้อภัย จะทำให้เราหันมามองเห็นมุมมองความแตกต่างที่เกิดขึ้นได้มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามการให้อภัยก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะสามารถทำได้ภายในเวลาอันสั้น การให้อภัยเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาจึงจะสามารถทำได้ ซึ่งแต่ละคนก็ใช้เวลามากน้อยไม่เท่ากัน ซึ่งก่อนที่เราจะสามารถให้อภัยได้นั้น เราจะต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดอยู่กับความรู้สึกนั้น ตกตะกอนกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ก่อนจะนำมาถึงขั้นตอนการยอมรับและให้อภัย
การให้อภัย ไม่ใช่สัญลักษณ์ของความอ่อนแอ หลายคนคิดว่าการที่เราให้อภัยคนที่ทำให้เราเจ็บปวดคือการยอม และนั่นคือความพ่ายแพ้ ซึ่งไม่จริงเลย การให้อภัยในทางกลับกันคือการแสดงความเข้มแข็ง และความรักตัวเองอย่างแท้จริง การที่จะให้อภัยใครสักคนได้ นั่นหมายความว่า เราจะต้องผ่านกระบวนการที่จะต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด เราเข้มแข็งพอที่จะก้าวข้ามจุดนั้นๆ ในชีวิต และปล่อยให้เรื่องราวที่ทำร้ายจิตใจเราได้อยู่ในอดีต เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และให้อภัยเพื่อสุขภาพจิตของตัวเอง เพื่อให้เราสามารถเดินหน้าต่อไปในชีวิตได้อย่างมีความสุขที่แท้จริง
ความโกรธแค้นมีผลทั้งต่อสุขภาพจิตและร่างกายของเรา มีการศึกษาพบว่าการที่เรายึดติดความโกรธแค้นนั้นๆ เอาไว้ มีผลต่อความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ การทำงานของกล้ามเนื้อร่างกาย รวมไปถึงภาวะความเครียดและความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าอีกด้วย
ดังนั้นถ้าเรารักตัวเองมากพอ เราจะไม่ยอมปล่อยให้ตัวเอง ใช้ชีวิตอีกแม้แต่เพียงหนึ่งวัน กับความรู้สึกโกรธแค้นนี้เลย
คำถามต่อไปก็คือ ทำอย่างไรเราถึงจะสามารถให้อภัยคนที่ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดได้
วันนี้มี 4 วิธี การในการจัดการกับความรู้สึกตัวเอง เพื่อที่จะสามารถให้อภัยกับคนที่ทำร้ายเราได้ มาฝากกันค่ะ
- ระบุว่าใครทำให้เรารู้สึกเป็นทุกข์ อะไรที่ให้เราเป็นทุกข์ และอะไรที่เราจะต้องให้อภัย
เมื่อเรารู้สึกโกรธแค้น ให้เราระบุว่า ใครทำให้รู้สึกโกรธแค้นนั้น ซึ่งอาจจะเป็นคนรักของเรา และถามตัวเองต่อว่า อะไรที่ทำให้เราทุกข์ใจ ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือ เขาไม่ได้เป็นอย่างที่เราคาดหวังให้เขาเป็น สุดท้าย เราจะต้องระบุว่า เราจะให้อภัยเขาในเรื่องอะไร ซึ่งในกรณีตัวอย่างนี้ เราอาจจะให้อภัย ในสิ่งที่เขาทำและมีผลกระทบต่อจิตใจเรา เข้าใจว่าเขาก็คือคนๆ หนึ่ง และความทุกข์ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงความคาดหวังของเราเท่านั้น เป็นต้น
- อยู่กับความรู้สึกนั้นๆ
อย่างที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น เนื่องจากเราเป็นมนุษย์ มีจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด ดังนั้นเราจึงรู้สึกโกรธ เสียใจ และทุกข์ใจ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา
ก่อนที่เราจะสามารถยอมรับความจริง เรียนรู้ และให้อภัยได้ เราจะต้องสามารถเผชิญหน้ากับความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อเรากำลังอยู่ในขั้นตอนนั้น ก็ปล่อยให้ตัวเองได้รู้สึก ได้ร้องไห้ ได้เศร้าเสียใจ และผ่านมันไปให้ได้
- ทำความเข้าใจว่า การให้อภัย ให้ประโยชน์อย่างไรกับตัวเรา
การให้อภัยไม่ใช่เรื่องง่าย มันคือการแสดงความเข้มแข็งและรักตัวเองมากๆ เมื่อเรารักตัวเองเราจะอยากให้ตัวเราก้าวไปข้างหน้า มีสุขภาพที่ดีและมีความสุข ดังนั้นการตระหนักว่าการให้อภัยดีต่อเราอย่างไร เราจะสามารถให้อภัยได้
- ให้อภัยและเรียนรู้
การให้อภัยไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้น และเป็นเพื่อนที่ดีกับคนที่เคยทำร้ายเราได้ การให้อภัยเป็นการปล่อยวางจากความโกรธแค้นที่อยู่ภายในจิตใจของเรา แต่เราควรเรียนรู้จากเรื่องราวที่เกิดขึ้น และนำมันมาใช้ในการก้าวต่อไป อย่างดีกว่าเดิม
ที่มา : https://www.istrong.co/single-post