เนื่องจากสภาพของสังคม เศรษฐกิจ ค่านิยม และการสื่อสารในปัจจุบัน มีเทคโนโลยีสำหรับการติดต่อสื่อสารอย่างรวดเร็ว ไร้พรมแดน ไร้สิ่งปิดกั้นของความเชื่อแบบเก่าๆ ทางศาสนาหรือศีลธรรม สอดรับกับสังคมที่มีสภาพปัญหาความเหลื่อมล้ำของความร่ำรวยกับความอดอยาก ผสมกับความต้องการหรือความอยากในวัตถุที่เกินกว่ารายได้ ชนิดที่หาเท่าไรก็ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดสภาพบังคับทำให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลครอบครัวไม่สามารถดูแลหรือไม่มีรายได้เพียงพอที่สนองต่อความต้องการของเด็กหรือวัยรุ่นได้
สภาพของปัญหาต่างๆ ของเด็กและวันรุ่นจึงตามมาอย่างมากมาย เช่น การค้ายาเสพติดเพื่อหารายได้ การค้าประเวณีหรือสื่อลามกอนาจารเพื่อหารายได้ การถูกหลอกลวงให้ทำสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือศีลธรรมเพื่อหารายได้ หรือเป็นเครื่องมือของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การหารายได้ของวัยรุ่นในสมัยปัจจุบันจะไม่ใช่เป็นการใช้แรงงานหรือความขยันเหมือนในอดีต แต่จะเป็นการหารายได้แบบใช้เทคนิค กลอุบาย ซึ่งบางคนอาจดำเนินไปได้อย่างถูกทาง แต่บางคนอาจดำเนินไปด้วยความหลงผิด
สื่อเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นรับรู้เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์อย่างรวดเร็วมากกว่าในสมัยอดีต ทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น การแต่งกายวาบหวิว การเลียนแบบพฤติกรรมทางเพศแบบชาวตะวันตก การคบหาเพียงแค่ต้องการเพศสัมพันธ์เท่านั้น การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ผูกพัน หรือการมีเพศสัมพันธ์แบบเสรี เกิดค่านิยมต่อการมีผู้ชายหลายคนในเวลาเดียวกัน เป็นต้น ประกอบกับสื่อลามกอนาจารในสังคมออนไลน์ที่ไม่มีองค์กรใดสามารถควบคุมหรือปิดกั้นได้เด็ดขาด ทำให้เกิดปัญหาการหารายได้จากการเผยแพร่สื่อลามกอนาจารในเว็บไซต์
ทำนองเดียวกับ YouTuber หรือการเปิดช่องทางเว็บไซต์เป็นของตนเองแล้วเรียกเก็บเงินจากผู้เข้าชม เป็นต้น ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์ไม่ใช่เป็นเพียงความรัก การสนองความใคร่ หรือการมีคู่ครอง แต่อาจเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มมิจฉาชีพหรือเป็นธุรกิจข้ามชาติ
ปัญหาที่ตามมาคือการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เมื่อตั้งครรภ์ในขณะที่ชายหญิงไม่พร้อมหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่รับผิดชอบ บางกรณีอาจทำให้เกิดปัญหาการนำทารกไปทิ้งตามสถานที่ต่างๆ ปัญหาการทำแท้ง ปัญหาการติดโรคเอดส์ ปัญหายาเสพติด ปัญหาการกระทำความผิดอื่นๆ (มนันญา ภู่แก้ว, 2559)
จากปัญหาต่างๆ มากมายทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายขึ้นมาดูแล ปกป้อง และเป็นที่พึ่งให้กับวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ โดยออกเป็นพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 มีสาระสำคัญ ดังนี้
มาตรา 5 “วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง และมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ได้รับการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ ได้รับการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว ได้รับการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และได้รับสิทธิอื่นใดที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ตามพระราชบัญญัตินี้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอ”
มาตรา 6 “ให้สถานศึกษาดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ดังนี้
- จัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียนหรือนักศึกษา
- จัดหาและพัฒนาผู้สอนให้สามารถสอนเพศวิถีศึกษาและให้คำปรึกษาในเรื่องการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแก่นักเรียนหรือนักศึกษา
- จัดให้มีระบบการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง รวมทั้งจัดให้มีระบบการส่งต่อให้ได้รับบริการอนามัยการเจริญพันธุ์และการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเหมาะสม”
มาตรา 8 “ให้สถานประกอบกิจการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
- ให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแก่ลูกจ้างซึ่งเป็นวัยรุ่นอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอ
- จัดหรือสนับสนุนให้ลูกจ้างซึ่งเป็นวัยรุ่นเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาและบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งจัดให้มีระบบการส่งต่อให้ได้รับการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเหมาะสมการกำหนดประเภทของสถานประกอบกิจการและการดำเนินการของสถานประกอบกิจการแต่ละประเภท ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”
มาตรา 9 “ให้มีการจัดสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
- ส่งเสริมสนับสนุนให้สภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัดและระดับอำเภอสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชนในพื้นที่เพื่อเป็นแกนนำป้องกัน แก้ไขและเฝ้าระวังปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
- ส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานของเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ประสานงานเฝ้าระวัง และให้ความช่วยเหลือแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และครอบครัว
- จัดให้มีการฝึกอาชีพตามความสนใจและความถนัดแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ก่อนและหลังคลอดที่ประสงค์จะเข้ารับฝึกอาชีพ และประสานงานเพื่อจัดหางานให้ได้ประกอบอาชีพตามความเหมาะสม
- จัดหาครอบครัวทดแทนในกรณีที่วัยรุ่นไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรด้วยตนเองได้
- การจัดสวัสดิการสังคมในด้านอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น”
ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ อาทิ
- เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
- เสนอแนวทางแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่นต่อคณะรัฐมนตรี เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้
- เสนอรายงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละ 1ครั้ง (ข้อมูลออนไลน์ http://3c4teen.org/?p=3777)
แสดงให้เห็นว่าตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ภาครัฐได้ให้ความคุ้มครอง ป้องกัน ดูแลช่วยเหลือวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ แต่ในสังคมตามความเป็นจริงเมื่อวัยรุ่นตั้งครรภ์ส่วนมากจะหลบหนี แอบไปอยู่กับญาติต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ แอบทำแท้งหรือนำลูกไปทิ้ง ไม่กล้าเผชิญหน้าเพื่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ (ควรมีมาตรการรักษาความลับหรือการรักษาภาพลักษณ์ของวัยรุ่น) ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง และคนรอบข้าง ค่อยช่วยเหลือสอดส่องดูแลและรายงานต่อหน่วยงานรัฐ เพื่อคุ้มครองเด็กและวัยรุ่นต่อไป
ผศ.ปองปรีดา ทองมาดี
(ประธานหลักสูตรนิติศาสตร์)