อุทกภัยไม่ใช่เพิ่งจะเกิดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ยุคนี้ แต่เกิดมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบัน โดยในอดีตไม่ได้ถือว่า “อุทก” หรือ “น้ำ” เป็นภัยในชีวิต แต่กลับเห็นว่า สถานการณ์น้ำหลาก,น้ำท่วม,เป็น, “เทศกาลประจำปี”
แต่เมื่อวันเวลาผันผ่าน สถานการณ์ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันเปลี่ยนผันไป “สายวารี” กลายเป็นภัยในวิถีชีวิตของชาวไทยไปได้อย่าง “หน้ามือเป็นหลังมือ”
แม้ว่าสถานการณ์น้ำหลากน้ำท่วมเมืองไทยจะดำเนินมาเป็นเวลาหลายร้อยปี คนไทยในยุคก่อนมีวิถีชีวิตที่มีความสุขยามน้ำหลาก แต่เพิ่งเปลี่ยนจากความสุขเป็นความทุกข์ในยุคนี้
ในยุคที่วิทยาการก้าวหน้าจนมนุษย์สามารถขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ แต่ความรู้ความสามารถที่จะหลีกลี้สถานการณ์อุทกภัย ความรู้ที่จะสร้างอาคารสถานที่ บ้านเรือนร้านค้าให้สามารถสมานสามัคคีกับสายวารี เพื่อให้ชีวิตมีความสุข พ้นทุกข์จากสถานการณ์น้ำท่วมกลับไม่มีความก้าวหน้าไปในทางที่ดี
มีแต่ความโกลาหลอลหม่านในทุกเทศกาลน้ำหลาก
การแก้ไขเยียวยาสถานการณ์อุทกภัยก็เกิดขึ้นและดำเนินไปตามบทเก่าๆ ที่เกิดขึ้นและดำเนินไปครั้งแล้วครั้งเล่า ปีแล้วปีเล่า ทศวรรษแล้วทศวรรษเล่า โดยไม่มีการสอบสวนทวนความหาสาเหตุ ต้นเหตุ กลางเหตุ และปลายเหตุแห่งจุลอุทกภัย มหาอุทกภัย อภิมหาอุทกภัย
– ไม่เคยมีการจัดเตรียมแผนจัดตั้งศูนย์รับรองผู้ประสบอุทกภัยให้เป็นปัจจุบัน
– ไม่เคยมีการจัดหาเนิน,ดอน,ที่สูง,อาคารจอดรถเพื่อหนีน้ำในชุมชน
– ไม่เคยจัดการเตือนภัยล่วงหน้า แม้ว่าฝนจะตกดั่งฟ้ารั่วรอบทิศ
– ไม่เคยมีระบบจัดการอพยพผู้ประสบภัยอย่างเป็นระบบ ระเบียบ เป็นแบบฉบับเหมือนญี่ปุ่น
– ไม่เคยขุดลอกท้องน้ำในทุกท้องที่ที่มีปัญหาน้ำล้นฝั่ง น้ำล้นตลิ่ง…..ตลอดมา!
– ไม่เคยตระเตรียมช่องทางสำรองอาหาร น้ำ ยา อุปกรณ์เครื่องนอนหมอนมุ้ง เสื้อผ้า ไฟฟ้าเดินทาง(ไฟฉาย) จุดชาร์จไฟฟ้าสำหรับแบตเตอรี่โทรศัพท์
– ไม่เคยสำรวจจุดตั้งเต็นท์ ตระเตรียมจุดประสานงาน จุดสั่งการ จุดประสานสื่อมวลชน จุดรวมข้าวของบริจาค ที่พักสื่อมวลชน ที่พักเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ พื้นที่พักผ่อนของอาสาสมัครที่หมดเรี่ยวแรง!
– ไม่เคยเตรียมห้องน้ำ,ห้องสุขาฉุกเฉินให้เพียงพอต่อสถานการณ์
– ไม่เคยตระเตรียมศูนย์รักษาพยาบาลฉุกเฉิน บางแห่งบางจังหวัดกลับถูกน้ำท่วมโรงพยาบาลจนใช้เพื่อการรักษาพยาบาลไม่ได้
– ไม่เคยออกแบบบ้านเรือน ชุมชนที่เอื้อเฟื้อต่ออุทกภัย
– ไม่เคย……….ฯลฯ
หรือถ้า “เคย” หรือ “มี” วีรกรรมในข้อใดที่ทางบ้านเมืองได้ประพฤติปฏิบัติอย่างดีเยี่ยมมาแล้ว
ก็ต้อง ขออภัย! ในการ “ใส่ความ,กล่าวหา,กล่าวโทษ” รัฐบาลและภาคราชการ โดยความสำนึกผิดที่คิดชั่วจนไม่น่าให้อภัย! ในครั้งนี้
บก.