26.7 C
Nakhon Sawan
วันเสาร์, ตุลาคม 12, 2024
spot_img

คอลัมน์ “ ที่นี่…สถานีฯ เจ้าพระยา ”

ตอน : ดราม่าในสายวารีที่ล้นฝั่ง

          อุทกภัยในประเทศไทยในแต่ละครั้ง   นอกจากความทุกข์โศกที่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยต้องเจ็บช้ำน้ำใจในความเสียหายจากภัยน้ำท่วม  ยังได้เห็นนิยายน้ำเน่าในเทศกาลอุทกภัยในทุกจังหวัดทุกภาคของประเทศไทย

นิยายน้ำเน่าเรื่องเก่า ๆก็คือผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ระดับนายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรี      ส.ส จะต้องเดินทางไปตรวจสถานการณ์   ไปดูเหตุการณ์ว่า “น้ำท่วมอย่างไร?”                    ระดับน้ำสูงแค่ไหน?  ชาวบ้านจะมีความเป็นอยู่อย่างไร? ฯลฯ  ซึ่งทางจังหวัดที่ประสบอุทกภัยก็กำลังตกอยู่ในความโกลาหล

ชาวบ้านชาวเมืองต้องขนย้ายข้าวของหนีน้ำกันอลหม่าน

ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ต้องตระเวนตรวจสถานการณ์   ต้องบัญชาการช่วยเหลือ  ราษฎรโดยลงไปกำกับการทำงานของนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกเทศมนตรีฯ เทศบาลทุกระดับ  ทั้งที่บางหน่วยผู้ว่าฯไม่สามารถบังคับบัญชาได้

ในระบบระเบียบทางกฎหมาย  ทางการปกครองอาจจะบังคับบัญชาหรือสั่งการกันไม่ได้  แต่ในทางพฤตินัยไปช่วยเป็นกำลังใจช่วยประสานงาน  ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะสถานการณ์กำลังเครียดเขม็ง   ซึ่งในเวลานั้นคำว่า “สองหัว ดีกว่าหัวเดียว”

(ช่างตัดผมก็ใช้คำรำพึงนี้เป็นสรณะมาช้านานแล้ว   และต้องการลูกค้ามากกว่า

2 หัวในแต่ละวัน…ฮา!)

ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดลงพื้นที่อุทกภัยเพื่อตรวจสถานการณ์ บรรดาหัวหน้าส่วนราชการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทุกข์สุขของราษฎร  โดยเฉพาะในสถานการณ์อุทกภัยก็ฉวยโอกาสติดสอยห้อยตามติดโตงเตงไปด้วย

นอกจากจะได้มีโอกาสได้เสนอหน้าให้ผู้ว่าฯได้เห็นหน้า  ยังเป็นการบอกกล่าวทางอ้อมว่า “เราไม่ทอดทิ้งกันในยามทุกข์…ฮา!”  ซึ่งผู้ว่าฯ ก็รู้ทางกันอยู่เพราะสมัยที่ผู้ว่าฯ ยังเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในอดีต  ท่านก็ประพฤติเช่นนี้มาก่อนจนชำนาญ

ข้อดีของการที่หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ  ระดับจังหวัด  ติดตามพ่อเมืองออกไปเยี่ยมเยียนราษฎรในจุดที่ประสบอุทกภัยจะมีประโยชน์ตรงที่ผู้ว่าฯ สามารถหันไปสั่งการหัวหน้าส่วนราชการต่างๆได้ในพริบตาทันท่วงที

นายอำเภอพร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดก็จะรับคำสั่งของผู้ว่าฯแล้วหันไปสั่งลูกน้องของแต่ละคนที่ติดสอยห้อยตามกันมาเป็นพรวน  จากนั้นท่านผู้ว่าฯ ก็จะหันไปยักคิ้วให้ นายกรัฐมนตรีนครฯ เมืองฯ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล   ทำนองว่า “สั่งการบรรเทาทุกข์ให้ราษฎรเรียบร้อยแล้วนะ”…ฮา!

ว่าแล้วผู้ว่าฯก็พาคณะหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดตะบึงต่อไปยังอำเภอ  ตำบล หมู่บ้าน ชุมชนอื่นๆที่ประสบอุทกภัยต่อไป  เพราะตั้งแต่ครั้งสุโขทัยมาถึงปัจจุบัน อุทกภัยไม่เคยเจาะจงเล่นงานหมู่บ้าน, ชุมชนหรือตำบลใดตำบลเดียว หรืออำเภอใดอำเภอเดียว แต่ปูพรมท่วมกวาดมาตลอดลำน้ำโดยเฉพาะช่วงที่ลุ่มที่ต่ำกว่าบริเวณอื่นๆ

ผู้ว่าฯและคณะจึงต้องตระเวนไปมากมายหลายแห่ง

ที่น่าชื่นชมคือไม่ค่อยจะเกิดกรณีที่ผู้ว่าฯ หันมาถามกลุ่มข้าราชการที่ติดตามว่า “นายอำเภออยู่ไหน? นายอำเภอไปไหน?”  เพราะส่วนใหญ่นายอำเภอมักจะติดตามผู้ว่าฯเหมือนเงาตามตัว  เพื่ออนาคตที่สดใสในทางราชการ

และอีกประการคือ  ผู้ว่าฯก็เป็นข้าราชการกระทรวงเดียวกัน  อาจจะมาจากกรมการปกครองด้วยกัน  ไม่ใช่มาจากหน่วยงานอื่นในกระทรวงมหาดไทย  ต้องรู้ใจ  รู้ทางและ       รู้กำพืดกันดีโดยธรรมชาติ

ถึงนายอำเภออาจจะไม่ได้มาต้อนรับขับสู้  ไม่ได้ร่วมคณะนำชมมหกรรมอุทกภัยเพราะไปราชการจริงๆบ้าง  ราชการลับเฉพาะบ้าง  ยังเมาไม่สร่างบ้าง  ไม่มีเที่ยวบินในวันนั้นบ้าง   ผู้ว่าฯ ก็ไม่เคยตะคอกสั่งปลัดอาวุโส ปลัดอำเภอให้ไปสั่งให้นายอำเภอรายงานด่วนว่า “สถานการณ์น้ำท่วม หน้าสิ่วหน้าขวาน นายอำเภอไปมุดหัวอยู่ที่ไหน?”

เพราะในสมัยที่ผู้ว่าฯเคยเป็นนายอำเภอก็อาจจะเคยประสบเหตุการณ์ทำนองนี้มาอย่างโชกโชน   หรือบางทีนายอำเภอที่ติดภารกิจสำคัญในราชการหรือภารกิจในครอบครัวอาจจะสวนหมัดผู้ว่าฯว่า “ผมไม่ใช่เทวดา จะได้เหาะมาต้อนรับท่านได้ทันการณ์!”…ฮา!

ประการสำคัญ  ยามที่ผู้ว่าฯ ออกตรวจสถานการณ์อุทกภัย  ไม่ต้องมีการจัดฉากเตรียมชาวบ้านมานั่งรอในเรือท้องแบนที่จอดอยู่บนบก  ไม่ต้องเกณฑ์กลุ่มแม่บ้าน          กลุ่มอาชีพมาชูป้ายรอรับ  ไม่ต้องเปลืองผ้าขาวม้าซึ่งไม่ใช่สำหรับผูกบั้นเอวของผู้ว่าฯ       เพียงผืนเดียว  ยังต้อง รองผู้ว่าฯ ปลัดจังหวัด  นายอำเภอ  หัวหน้าส่วนราชการอื่นๆ ที่ยืนกันหน้าสลอน  มิหนำซ้ำยังทำหน้าละห้อยสร้อยเศร้าสงสารชาวบ้านผู้ประสบอุทกภัยให้เข้ากับบรรยากาศ

ไม่ต้องเสียกระเช้าผลไม้  กระเช้าสินค้าตำบล 1 ตำบล 6-9 ผลิตภัณฑ์”            ไม่ต้องโก่งคอเปล่งเสียงตะโกนให้ศีลให้พรผู้ว่าฯ  “ขอให้ท่านผู้ว่าฯได้เลื่อนยศเป็นนายอำเภอไวๆ!”…ฮา!

ทั้งส่วนราชการและผู้นำท้องถิ่นก็สามารถใช้เวลาในการช่วยเหลือราษฎรที่ประสบอุทกภัยได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ผิดกับผู้นำระดับประเทศที่ต้อง “แอ่น!” ออกไปตรวจสถานการณ์เป็นคณะใหญ่  ขบวนยานพาหนะยาวเหยียด  แทนที่จะเร่งสั่งการหน่วยงานต่างๆในส่วนกลาง  คอยกำกับการจัดข้าวปลาอาหารข้าวของเครื่องใช้จำเป็นใส่ถุงยังชีพให้มากที่สุดแล้วเร่งส่งให้รวดเร็วทั่วถึงแล้วจึงนั่งเป็นประธานในห้องปฏิบัติการบรรเทาทุกข์อยู่ในทำเนียบ ประชุมส่วนราชการทุกส่วน  ดูข่าวโทรทัศน์  ฟังข่าววิทยุ  แล้วสั่งการฉับๆๆๆ ทันท่วงทีในทุกเรื่องทุกประเด็น    แล้วแอบลงพื้นที่เงียบๆ ไม่ให้ข้าราชการและราษฎรเดือดร้อนต้องมารอต้อนรับในวันที่สถานการณ์คลี่คลายลงไปบ้างแล้ว

ชาวบ้านกำลังเดือดร้อนเลือดตากระเด็น  ผู้ว่าฯ  นายอำเภอ นายกเทศฯ ฯลฯ กำลังเร่งบรรเทาทุกข์ตัวเป็นเกลียว   แต่ต้องละทิ้งภารกิจมาต้อนรับฝูงเทวดาที่เหาะมาเป็นฝูง   มาถ่ายรูป  มาแสดงละครหน้ากล้องโทรทัศน์ไม่เกิน 3 ชั่วโมงก็โกยแน่บ! มาแสดงอำนาจบาตรใหญ่ให้ข้าราชการในพื้นที่เขาลำบากใจ   ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอดสูใจยิ่งนัก

ข้าราชการเขามีเกียรติมีศักดิ์ศรีมีกินมีใช้   ทำงานในฐานะของ

“ข้าฯ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

ไม่ใช่ขี้ข้าของนักการเมืองที่ซื้อเสียงเข้ามาโกงกินบ้านเมืองแล้วยังมาจิกหัวด่า “ข้าราชการของแผ่นดิน”

***********************

บก.

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด