38.9 C
Nakhon Sawan
วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 16, 2024
spot_img

หลักศาสนากับความเชื่ออิงศาสนา

หลักศาสนากับความเชื่ออิงศาสนานั้น มีความแตกต่างกันหลายประการด้วยกัน เนื่องจากสังคมไทยและสังคมโลกกำลังเจริญก้าวหน้าไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัลทุกรูปแบบ หลักศาสนากับความเชื่ออิงศาสนาก็ยังคงฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของมนุษย์ทุกคน เพราะมนุษย์ทุกคนถูกปลูกฝังเรื่องหลักศาสนามาพร้อมกับการเกิด และยังต้องระบุศาสนาประจำตัวบุคคลไว้ในทะเบียน

เมื่อจิตใจของมนุษย์ถูกพัฒนาหรือสัมผัสรับรู้กับสิ่งใหม่ๆ จึงเกิดความเชื่อใหม่ที่เรียกว่า “ความเชื่ออิงศาสนา” แต่ไม่ใช่หลักศาสนาที่แท้จริงหรือไม่ใช่หลักศาสนาที่ถูกต้อง ซึ่งอาจพบเห็นในปัจจุบันเป็นจำนวนมาก เช่น กรณีอดีต ส.ส. อ้างตัวเองเป็นพระศรีอริยเมตไตรย กรณีบูชาเด็ก 8 ขวบอ้างถอดจิตหรือเชื่อมจิต กรณีชาวสเปนอ้างตนเองเป็นพระเจ้า กรณีนายพศรีอริยเมตตรัย หรือกรณีอ้างตนเองเป็นร่างทรงเทพ ฯลฯ

ดังนั้นบทความเรื่องนี้จะอธิบายความเป็นมาของความเชื่อทางศาสนา หลักศาสนาที่ควรปฏิบัติตาม และความเชื่ออิงศาสนา ตามลำดับดังนี้

ความเป็นมาของความเชื่อทางศาสนา ซึ่งศาสนาหลักที่ในโลกนี้จะมี 4 ศาสนาคือ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ

เดิมทีมนุษย์มีความเชื่อทางศาสนาเพราะเชื่อว่าศาสนาจะช่วยปัดป้องภัยพิบัติต่างๆ ได้ทุกชนิด เช่น ภัยจากธรรมชาติ ภัยจากสงคราม ภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ ภัยจากสัตว์ป่า ภัยจากความขัดแย้ง ภัยจากการข่มเหงรังแกผู้อื่น และภัยที่สำคัญก็คือความกังวลหรือความทุกข์ในจิตใจของมนุษย์ฯ

การเข้าถึงศาสนาจะช่วยให้ภัยพิบัติต่างๆ เหล่านี้ลดลงหรือหมดไป และทำให้ผู้เข้าถึงศาสนานำไปสู่การเป็นผู้นำทางความเชื่อของมนุษย์แต่ละยุคแต่ละสมัยจนถึงปัจจุบัน และนำมาสู่การฝึกหรือการปฏิบัติตามรูปแบบเฉพาะของศาสนาต่างๆ เพื่อการเข้าถึงหลักศาสนาอย่างแท้จริง

หลักศาสนาที่ควรปฏิบัติตาม ซึ่งการฝึกหรือการปฏิบัติตามรูปแบบเฉพาะของศาสนาต่างๆ มีหลายรูปแบบ และแต่ละศาสนาจะมีการแยกวิธีการฝึกออกเป็นรูปแบบต่างๆ อีกหลายรูปแบบเช่นกัน ซึ่งผู้ฝึกจะต้องอยู่ในกรอบของศีลธรรมและหลักการปฏิบัติ เช่น

หลักปฏิบัติศาสนาพุทธ อยู่ในกรอบของมรรคมีองค์ 8 อันเป็นทางสายเดียวที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ ประกอบด้วย (1) สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ (2) สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ (3) สัมมาวาจา การเจรจาชอบ (4) สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ (5) สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตชอบ (6) สัมมาวายามะ ความพยายามชอบ (7) สัมมาสติ ความระลึกชอบ (8) สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ รวมเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง หรือถือปฏิบัติตามมงคลสูตร 38 ประการ (อเสวนา จ พาลานํ) เป็นต้น

หลักปฏิบัติศาสนาคริสต์ อยู่ในกรอบของบทบัญญัติ 10 ประการดังนี้ (1) จงนมัสการ องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าองค์เดียวของท่าน (2) จงอย่าออกพระนามพระเจ้าโดยไม่สมเหตุ (3) จงอย่าลืมฉลองวันพระเจ้าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ (4) จงนับถือบิดามารดา (5) จงอย่าฆ่าคน (6) จงอย่าผิดประเวณี (7) จงอย่าลักขโมย (8) จงอย่าพูดเท็จใส่ร้ายผู้อื่น (9) จงอย่าปลงใจผิดประเวณี (10) จงอย่ามักได้ทรัพย์สินของผู้อื่น หรือหลักความคำสอนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์และจริยธรรม คือ  หลักตรีเอกานุภาพ หลักความรัก หลักอาณาจักรของพระเจ้า พระเจ้าผู้เป็นอันติมสัจจ์ และบทเทศนาบนภูเขา (ปฐมเทศนา) หรือคำสอนเรื่องความสุขแท้จริงหรือบุญลาภ 8 ประการ เป็นต้น

หลักปฏิบัติศาสนาอิสลาม อยู่ในกรอบหลักปฏิบัติ 5 ประการ คือ (1) การปฏิญาณตน (2) การละหมาด (3) การถือศีลอด (4) การบริจาคทาน (5) การประกอบพิธีฮัจญ์ หรือหลักปฏิบัติพื้นฐาน ประกอบด้วย (1) หลักศรัทธา (อัรกานุลอีมาน) (2) หลักปฏิบัติศาสนกิจ (อัรกานุลอิสลาม) และ (3) หลักศีลธรรม (เอี๊ยะห์ซาน) หรือหลักความศรัทธา 2 ประการคือ (1) บทบัญญัติ (ดะลีลนักลี) (2) สติปัญญา (ดะลีลอักลี) หรือหน้าที่สำคัญของเทวทูต (มลาอิกะห์) 10 ประการ คือ (1) เป็นสื่อโองการพระเจ้ากับศาสดา (2) นำโชคลาภจากพระเจ้าสู่โลก (3) เป่าสังข์ในวันสิ้นโลก (4) ถอดวิญญาณของมนุษย์และสัตว์ (5) บันทึกความดีและความชั่วของมนุษย์ (6) สอบถามคนตายในกุโบร์ (7) ดูแลกิจการของสวรรค์ (8) ดูแลกิจการของขุมนรก เป็นต้น

หลักปฏิบัติศาสนาฮินดู อยู่ในกรอบหลักปฏิบัติสามานยธรรมหรือมนุษยธรรม (ธรฺมาตมา) 10 ข้อ คือ (1) ธฤติ ความพอใจหรือสันโดษ ความจริง (2) กฺษมา ความอดกลั้นหรือความอดโทษ (3) ทม การระงับจิตใจ คือรู้จักข่มจิตใจของตนเองด้วยความสำนึกในเมตตาและมีสติอยู่เสมอ (4) อสฺเตย ไม่ลัก ไม่ขโมย ไม่กระทำโจรกรรม (5) เศาจ ความบริสุทธิ์ การทำตนเองให้มีความบริสุทธิ์ทั้งจิตใจและร่างกาย (6) อินฺทรินคฺรห นิคฺรห การปราบปรามอินทรีย์ทั้งสิบ (7) ธี ธิติ ปัญญา สติ มติ ความคิด ความมั่นคงยืนนาน (8) วิทยา ความรู้ทางปรัชญาศาสตร์คือรู้ลึกซึ้ง และมีความรู้เกี่ยวข้องกับชีวะกับมายา (9) สตฺย ความจริง ความเห็นอันบริสุทธิ์ ความเห็นอันสุจริต (10) อโกรฺธ ไม่โกรธ คนที่จะมีความไม่โกรธนั้นก็คือต้องมีขันติและโสรัจจะ เป็นต้น หรือหลักปฏิบัติพื้นฐาน 4 ประการคือ (1) อรถะหรืออรรถะ การแสวงหาทรัพย์เพื่อการดำรงชีวิตภายใต้กรอบคำสอนทางศาสนา (2) ธรมะหรือธรรมะ การดำรงชีวิตภายใต้กรอบคำสอนทางศาสนา (3) กามะ การแสวงหาความสุขทางโลก ภายใต้กรอบคำสอนทางศาสนา (4) โมกษะ ในที่สุดต้องแสวงหาความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เป็นต้น

หลักปฏิบัติของศาสนาตามพระคัมภีร์มีเป็นจำนวนมากไม่สามารถนำมากล่าวได้ทั้งหมด พอสรุปได้ว่าหลักศาสนาต่างๆ เริ่มมาจากความเชื่อ หลักปฏิบัติ หลักธรรม จนนำไปสู่มรรคผลทางศาสนาหรือผลประโยชน์ทางศาสนาตามมา ดังนั้นควรแบ่งแยกให้ออกระหว่างมรรคผลทางศาสนากับผลประโยชน์ทางศาสนา ซึ่งมรรคผลทางศาสนาจะเกิดจากความเชื่อ การปฏิบัติตาม และเกิดหลักธรรมในจิตใจของผู้ปฏิบัติโดยตรง แต่ผลประโยชน์ทางศาสนาเกิดจากการแสวงหาผลประโยชน์จากความเชื่อของผู้อื่น การปฏิบัติของผู้อื่น จึงนำมาสู่ความเชื่อที่อิงศาสนาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งความเชื่ออิงศาสนาอาจเกิดขึ้นได้ 2 รูปแบบ คือ (1) ผลประโยชน์นั้นนำไปใช้เพื่อการกุศลหรือสาธารณะประโยชน์ (2) ผลประโยชน์นั้นนำไปใช้เชิงพาณิชย์หรือธุรกิจส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคล

ความเชื่ออิงศาสนา อาจกล่าวได้ว่า คือการอาศัยความเชื่อ หลักปฏิบัติ หลักธรรม และมรรคผลทางศาสนา นำมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ อาจเกิดจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน เช่น

(1) ในระหว่างปฏิบัติยังไม่ทันเข้าถึงศาสนา แต่หลุดไปจนเข้าใจว่าตนเองเป็นพระเจ้า พระพุทธเจ้า พระศรีอริยเมตไตรย เทพเทวดา ยมทูต หรือเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์เหนือคนทั่วไป เนื่องจากมีประชาชนหลงเชื่อและเข้ากราบไหว้ เคารพ ศรัทธาเป็นจำนวนมาก จึงติดหรือหลงอยู่กับลาภ ยศ สรรเสริญเหล่านั้นและอาจเสียผู้เสียคนไป

(2) นำหลักศาสนามาแสวงหาผลประโยชน์โดยตรงหรือโดยอ้อม หรือเชิงพาณิชย์ หรือเป็นธุรกิจ

(3) นำความเชื่อทางศาสนามาใช้ในทางที่ผิด หรือนำมาปฏิบัติทางที่ผิด เกิดหลักธรรมผิดๆ เช่น การทำคุณไสย การปลุกเสก การเชื่อมจิต การเข้าถึงภูตผีปีศาจ การเข้าถึงกษัตริย์หรือเจ้าเมืองที่สวรรคตไปแล้ว เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ ฯลฯ

แสดงให้เห็นว่าความเชื่ออิงศาสนา อาจเกิดขึ้นในทางที่ดีหรือเกิดขึ้นในทางที่ไม่ดีก็ได้ ความเชื่ออิงศาสนาในทางที่ดี เช่น นำหลักศาสนามาปฏิบัติ เทศนาสอนคนทั่วไปหรือประกาศศาสนา นำหลักศาสนาศึกษาวิจัย วิเคราะห์หลักศาสนาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมหรือพฤติกรรมมนุษย์ การใช้หลักศาสนาเพื่อปลูกฝังจิตใจ ฯลฯ ซึ่งอยู่ที่เจตนาของผู้อิงศาสนาว่าจะนำไปหลักศาสนาไปใช้เพื่อประโยชน์อะไร ที่สำคัญคือประชาชนหรือคนเชื่อหรือคนกราบไหว้ ควรใช้วิจารณญาณอย่างเหมาะสมหรือแสดงออกอย่างเหมาะสม มีเหตุมีผล และควรยึดตามหลักศาสนาที่แท้จริง ว่าอยู่ในกรอบตามหลักปฏิบัติของศาสนานั้นๆ หรือไม่ ซึ่งจิตใจของมนุษย์โดยธรรมชาติเปรียบเสมือนน้ำเปล่า เมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งหยดลงในน้ำเปล่า น้ำนั้นย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางใดทางหนึ่ง จิตใจมนุษย์ก็เช่นกัน เมื่อรับสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอน เพียงแต่อยู่ที่มนุษย์คนนั้นจะพบเห็น รู้ ควบคุม หรือบริหารจัดการอย่างไร ก่อนที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจและพฤติกรรมของตนหรือเกิดผลกระทบต่อบุคคลอื่น และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

ผศ.ปองปรีดา ทองมาดี

อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์

 

 

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด