พระสยามเทวาธิราชคงทรงเมตตาข้าราชการดีๆที่ซื่อสัตย์สุจริตในสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ไม่ต้องการให้ไปเสียชีวิตพร้อมๆกันนับพันหรือ 2 พันคนในตึกเต้าหู้ ราคา 2 พันกว่าล้านบาท ที่เต็มไปด้วยความไม่สะอาดแทบจะทุกขั้นตอนในการก่อสร้าง
จึงดลบันดาลให้พลังแผ่นดินไหวที่ห่างไกลจากที่ตั้งตึกที่กำลังก่อสร้างนับ พันกิโลเมตร ช่วยเขย่าให้โครงสร้างซึ่งถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลายความมั่นคงแข็งแรงโดยข้าราชการฉ้อฉลที่เกลือกกลั้วสุมหัวกับนักการเมืองจอมโกงกินได้สิ้นความทรงตัวในทรง ตึกสูงเยี่ยมเทียมเมฆพังพาบลงมากองซ้อนซับทับถมเป็นขนมชั้น ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568.
เพราะถ้ารอแสดงอิทธิปาฏิหาริย์จนสร้างตึกเสร็จ บรรดาข้าราชการเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเข้าไปทำงานในตึกโดยพร้อมเพรียงกันแล้ว โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของโลกที่เป็นรองเพียงตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เมื่อวันอังคารที่ 11 กันยายน 2544 ที่ถูกถล่มด้วยฝีมือ บินลาเดน อาชญากรของโลกจะเป็นของตึก สตง. เมืองไทยซึ่งจะกลายเป็นตราบาปกระฉ่อนโลกไปชั่วฟ้าดินสลาย
เมื่อน้ำลดแล้วตอก็ผุดโผล่ขึ้นมามากมายจนละลานตา
หน่วยงานราชการที่ควรจะเต็มไปด้วยข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริตยิ่งกว่าส่วนราชการใดๆในแผ่นดินโดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง กลับกลายเป็นหน่วยงานที่ถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำที่ส่อไปว่า อาจมีการทุจริตครั้งยิ่งใหญ่กว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์การโกงฉ้อฉลของส่วนราชการเมืองไทยในรอบศตวรรษ
ในขณะที่กำชับให้ส่วนราชการอื่นๆ ใช้งบประมาณอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์ต่อราชการอย่างสูงสุด แต่ตนเองกลับเป็นหน่วยงานราชการที่ใช้งบประมาณที่เป็นเงินภาษีอากรของราษฎรอย่างฟุ่มเฟือยและน่าละอายใจอย่างที่สุด
เข้าทำนอง “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง”
ความทุจริตคิดคดของผู้บริหารระดับสูงในองค์กรที่ก่อความอับอายขายหน้าให้กับวงการราชการไทยแผ่รังสีอำมหิตไปถึงข้าราชการระดับรองลงมาโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ว่า น่าจะมีพฤติการณ์ไม่ต่างจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง ทั้งๆที่โดยสามัญสำนึกทั่วไปสังคมต่างเข้าใจดีว่า
“ ในสังคมมีคนดีมากกว่าคนไม่ดี สังคมจึงยังพอจะดำรงสถานะไว้ได้แม้จะไม่มั่นคงนัก”
ดั่งพระบรมราโชวาท ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 9 ที่ ว่า…
“ ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้” ( 11 ธันวาคม 2512 )
บก.