การเรียนรู้ในระบบเศรษฐกิจโลกใหม่จำเป็นต้องผสมผสานประเด็นต่างๆ ร่วมกัน ดังนี้
1) สาขาวิชาหลักและทักษะจำเป็น โดยการเรียนรู้จะต้องยึดสาขาวิชาหลักไม่ว่าจะเป็น ภาษาแม่ และภาษาสำคัญของโลก ศิลปะ คณิตศาสตร์ การปกครองและหน้าที่พลเมือง เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ทั้งนี้การเรียนรู้จะต้องยึดหลัก 3R คือ Reading (อ่านออก) (R) W(R)iting (เขียนได้) A(R)ithemetics (คิดเลขเป็น) และการเรียนรู้วิชาหลักจะต้องสอดแทรกทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เข้าไปด้วย อันได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับโลก (Global Awareness) ความรู้เกี่ยวกับการเงิน เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ และการเป็นผู้ประกอบการ (Financial, Economics, Business and Entrepreneurial Literacy) ความรู้ด้านการเป็นพลเมืองที่ดี (Civic Literacy) ความรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) และ ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Literacy) กระบวนการดังกล่าว จึงต้องเป็นการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการข้ามสาขาวิชานั่นเอง
2) นอกจากการเรียนรู้ในวิชาหลักและทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 การเรียนรู้ยังต้องเสริมด้วยทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม อันประกอบด้วยความริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา และการสื่อสารและการร่วมมือ โดยทักษะดังกล่าวจะช่วยเสริมความพร้อมเพื่อก้าวสู่โลกความเป็นจริงที่ซับซ้อนในอนาคตได้ง่ายขึ้น
3) ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี เพื่อรองรับความเป็นอยู่ในยุคเศรษฐกิจโลกใหม่ที่อุดมไปด้วยเทคโนโลยีที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การมีความรู้ด้านสารสนเทศ ด้านสื่อ และด้านเทคโนโลยี จึงเป็นทักษะสำคัญที่ควรเสริมสร้าง
4) ทักษะด้านชีวิตและอาชีพ การเรียนรู้เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตและทำงานได้ยังเป็นทักษะที่ควรเรียนรู้ อันได้แก่ ความยืดหยุ่นและการปรับตัว การริเริ่มสร้างสรรค์และเป็นตัวของตัวเอง ทักษะสังคมและสังคมข้ามวัฒนธรรม การเป็นผู้สร้างหรือผู้ผลิต (Productivity) และความรับผิดชอบเชื่อถือได้ (Accountability) ภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ (Responsibility)
รวมทั้งจะต้องบริหารจัดการระบบสนับสนุนการเรียนรู้ ได้แก่มาตรฐานและการประเมิน หลักสูตรและการเรียนการสอน การพัฒนาครู/ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดทั้งสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
ขอบคุณที่มา : https://www.thailibrary.in.th/2014/02/13/21st-century-learning/