แผนที่ 1:50,000 กับแผนที่ 1:200,000 นั้น มีความเป็นมาต่างกันและเป็นแผนที่ที่เกิดขึ้นคนละยุคสมัยกัน โดยแผนที่ทั้งสองฉบับเป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชามาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะคดีเขาพระวิหาร ทำให้ประเทศกัมพูชาเป็นฝ่ายชนะโดยอาศัยข้ออ้างตามแผนที่ 1:200,000 ทำให้ประเทศกัมพูชาเกิดความโลภปรารถนาจะได้แผ่นดินไทยในเขตพื้นที่อื่นๆ อีก โดยอาศัยข้ออ้างตามแผนที่ 1:200,000 ยื่นต่อศาลโลกเช่นเดิม ซึ่งหากประเทศไทยยินยอมให้ใช้แผนที่ 1:200,000 ต่อไปก็จะทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ประกอบกับหากนักการเมืองอาศัยเป็นเครื่องมือต่อรองทางธุรกิจส่วนตัวด้วยแล้วก็จะทำให้ประเทศเสียดินแดนได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น (ขายชาติ, กบฏ) ซึ่งแผนที่ 1:50,000 กับ 1:200,000 มีความแตกต่างกัน มีสาระสำคัญดังนี้
ความเป็นมาของแผนที่ 1:200,000 หมายความว่า 1 เซนติเมตรบนแผนที่เท่ากับ 2 กิโลเมตรในพื้นที่จริงบนโลก ทำด้วยระบบ Sinusoidal Projection จัดทำโดยคณะกรรมการปักปันสยาม-อินโดจีน ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วมระหว่างฝรั่งเศสในฐานะมหาอำนาจอาณานิคม และราชอาณาจักรสยามในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จุดกำเนิดของแผนที่นี้อยู่ในบริบทของการลงนามอนุสัญญาระหว่างสยามและฝรั่งเศสในปี 1904 และ 1907 หลังจากที่สยามต้องยกดินแดนบางส่วนให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับการคงไว้ซึ่งเอกราชบางด้าน คณะกรรมการผสมดังกล่าวจึงถูกตั้งขึ้นเพื่อกำหนดเส้นเขตแดนใหม่ โดยมีการสำรวจและจัดทำแผนที่ตลอดแนวชายแดน รวมทั้งหมด 11 ระวาง ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำจนถึงพนมดงรัก กัมพูชาถือว่าแผนที่ 1:200,000 เป็นหลักฐานสำคัญในการอ้างสิทธิ์ดินแดน โดยเฉพาะในกรณีคดีปราสาทพระวิหารที่ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในปี 1959 และมีคำพิพากษาในปี 1962 ซึ่งระบุให้ไทยต้องถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่รอบปราสาท ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าศาลได้ใช้แผนที่ 1:200,000 เป็นหลักฐานสำคัญในการตัดสินคดี (ยศไกร รัตนบรรเทิง, 2025) ศาลอ้างถึงการที่ไทยไม่เคยยกข้อโต้เถียงเรื่องแผนที่ดังกล่าวขึ้นมานับตั้งแต่หลังช่วงปี 2452 จนกระทั่งถึงการเจรจาในปี 2501 ซ้ำยังผลิตแผนที่ที่แสดงว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในเขตกัมพูชา และไม่ได้แก้ไขแม้จะมีโอกาสหลายครั้ง จึงถือว่าไทยได้ยอมรับและยังคงยอมรับแผนที่ฉบับดังกล่าว ศาลโลกได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งคือ การเสด็จเยือนปราสาทพระวิหารของข้าราชการเชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ของไทย (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการจากข้าหลวงของฝรั่งเศส โดยมีการชักธงฝรั่งเศสในบริเวณดังกล่าว แต่ฝ่ายไทยไม่ได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ และเมื่อคณะฝ่ายไทยเดินทางกลับมายังกรุงเทพฯ แล้วยังได้ส่งภาพถ่ายให้ฝ่ายฝรั่งเศส และใช้ข้อความที่ดูประหนึ่งว่ายอมรับฐานะ “ประเทศเจ้าภาพ” ของฝรั่งเศส ศาลจึงถือว่าสยามยอมรับโดยปริยาย (tacit recognition) ต่ออำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารของกัมพูชาภายใต้อารักขาของฝรั่งเศส แม้ศาลโลกไม่ได้ตัดสินว่าแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ต้องผูกพันประเทศไทย (BBC NEWS, 2025) แต่ประเทศกัมพูชาใช้แผนที่ 1:200,000 อ้างสิทธิ์เข้ายึดพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยเสมอมา และประเทศไทยได้ตอบโต้ตลอดมาว่าไม่มีผลผูกพันตามแผนที่ 1:200,000 เพราะไม่ได้รับรองร่วมอย่างเป็นทางการ
ความเป็นมาของแผนที่ 1:50,000 หมายความว่า 1 เซนติเมตรบนแผนที่เท่ากับ 500 เมตรในในพื้นที่จริงบนโลก หรือแผนที่ L7017 และ L7018 ทำด้วยระบบ Mercator Projection จัดทำโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA “Thailand Mapped กำเนิดเมืองไทยจากแผนที่” บนเว็บไซต์นิวแมนดาลา (New Mandala) ว่าแผนที่หมายเลข L7017 นั้น ปรับปรุงขึ้นมาจากแผนที่ L708 ซึ่งทำขึ้นโดยหน่วยแผนที่ทหารของสหรัฐฯ (US Army Map Service) ท่ามกลางข้อตกลงกับรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี 2494 (เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, 2561) จัดทำแล้วเสร็จในปี 2512 (ค.ศ. 1969) นับเป็นแผนที่มาตรฐานที่มีมาตราส่วน 1:50,000 ฉบับแรกของไทย ก่อนที่จะถูกนำมาปรับปรุงเป็นแผนที่ L7017 ในอีกหลายปีถัดมา เป็นแผนที่ที่มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง และประเทศไทยได้มอบให้กับกัมพูชาไปแล้วตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเส้นที่ปรากฏในแผนที่ชุดนี้ก็เป็นเส้นที่กัมพูชารับรู้มาตั้งแต่ปี 2505 โดยเป็นเส้นที่ลากตามแนวรั้วลวดหนามในปี 2505 ตามมติคณะรัฐมนตรีของไทย (BBC NEWS, 2025)
ความแตกต่างระหว่างแผนที่ 1:50,000 กับแผนที่ 1:200,000 แผนที่ที่มีมาตราส่วนต่างกัน ซึ่งไทยใช้ 1:50,000 แต่กัมพูชาใช้ 1:200,000 นำไปสู่การตีความเขตแดนที่ไม่ตรงกัน ส่งผลต่อความตึงเครียดทางการเมืองและการทหาร แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ที่ไทยใช้อ้างอิง หมายถึง 1 เซนติเมตรบนแผนที่เท่ากับ 50,000 เซนติเมตร หรือ 500 เมตรในความเป็นจริง ด้วยความละเอียดสูง แผนที่นี้สามารถแสดงลักษณะภูมิประเทศ เช่น เนินเขา ลำธาร หรือเส้นทางเล็ก ๆ ได้ จะแสดงรายละเอียดได้มากกว่าและแม่นยำมากกว่า ส่วนแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 หมายถึง 1 เซนติเมตรบนแผนที่เท่ากับ 200,000 เซนติเมตร หรือ 2 กิโลเมตรในความเป็นจริง แผนที่ชุดนี้มีรายละเอียดน้อยกว่าแผนที่ 1:50,000 ถึง 4 เท่า ส่งผลโดยตรงต่อการกำหนดเส้นเขตแดนจริงในพื้นที่ ซึ่งไทยและกัมพูชามีชายแดนติดกันระยะทางกว่า 800 กม. (ThaiPBS, 2568) ความแตกต่างที่สำคัญยิ่งกว่ามาตราส่วนคือระบบการฉายภาพ (Projection System) ที่แต่ละแผนที่ใช้ แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ของไทยใช้ระบบ Mercator projection ซึ่งเป็นระบบที่ใช้พื้นผิวของรูปทรงกระบอกในการแปลงจากโลกทรงกลมมาเป็นแผนที่เรียบ ระบบนี้ได้รับความช่วยเหลือทางเทคนิคจากสหรัฐอเมริกา และมีคุณสมบัติเด่นในการแสดงระยะทางและทิศทางได้อย่างถูกต้องแม่นยำ หากต้องการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งบนแผนที่ Mercator Projection เราสามารถวัดระยะทางและกำหนดทิศทางได้อย่างแม่นยำ แต่ข้อจำกัดของระบบนี้คือขนาดของภูมิประเทศอาจมีการผิดเพี้ยนไป โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่ไกลจากเส้นศูนย์สูตร ยิ่งไปทางขั้วโลกเหนือหรือใต้ การผิดเพี้ยนจะยิ่งมากขึ้น ในทางตรงข้าม แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ของกัมพูชาใช้ระบบ Sinusoidal Projection ซึ่งมีลักษณะเหมือนการหั่นเปลือกส้มแล้วแผ่ออกบนพื้นผิวเรียบ หรือบางคนเปรียบเทียบว่าเหมือนรูปหัวหอม ระบบ Sinusoidal Projection นี้เป็นผลงานของนักสำรวจฝรั่งเศส มีจุดเด่นในการแสดงขนาดและพื้นที่ของภูมิประเทศได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ทุกช่องสี่เหลี่ยมบนแผนที่จะมีพื้นที่เท่ากันเมื่อเปรียบเทียบกับความเป็นจริง คุณสมบัติของแผนที่ Sinusoidal Projection ทำให้เหมาะสำหรับการคำนวณพื้นที่ การวางแผนการใช้ที่ดิน หรือการประเมินทรัพยากรธรรมชาติ แต่ข้อเสียคือระยะทางที่วัดได้จากแผนที่อาจไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยเฉพาะเมื่อวัดระยะทางแนวทแยงหรือในพื้นที่ที่อยู่ห่างจากเส้นกึ่งกลางของแผนที่ ปัญหาใหญ่ที่สุดของการใช้แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 กับ 1:200,000 ร่วมกันคือ เมื่อนำมาทาบกัน จะพบว่าไม่สามารถทาบได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากความแตกต่างพื้นฐานของระบบการฉายภาพและคุณสมบัติที่แตกต่างกัน (Thansettakij, 2568)
แสดงให้เห็นว่า วันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ.1893 เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา เมื่อฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบข่มขู่และบังคับให้สยามต้องยอมทำสนธิสัญญาสละดินแดน ต่อมาในปี ค.ศ.1904 อนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ได้กำหนดให้ใช้ “สันปันน้ำ” เป็นเส้นแบ่งเขตแดน และให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการผสมเพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลจัดทำแผนที่ ในขณะจัดทำได้ประสบปัญหาคณะกรรมการปักปันผสมได้สลายตัวไปก่อนที่แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 จะจัดพิมพ์เสร็จ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยในฐานะพันธมิตรของสหรัฐฯ จึงได้รับความช่วยเหลือทางเทคนิคในการพัฒนาระบบแผนที่ให้ทันสมัย การใช้เทคโนโลยี Mercator Projection และการผลิตแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ขึ้นแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1969 จึงทำให้แผนที่ 1:200,000 มีความล้าหลังมากและมีความคลาดเคลื่อนสูง ซึ่งประเทศกัมพูชาใช้แผนที่ดังกล่าวเนื่องจากอาศัยความคลาดเคลื่อนของแผนที่ในการรุกรานดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน ต่างจากแผนที่ 1:50,000 มีความทันสมัยมากกกว่าและความแม่นยำสูงกว่า ไม่มีความคลาดเคลื่อนจากพื้นที่จริง ทำให้ไม่สามารถรุกรานดินแดนของประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่ก็ยังโชคดีที่ประเทศกัมพูชาไม่ใช้แผนที่ของอาณาจักรฟูนันเป็นอาณาจักรแรกของเขมร หรือใช้แผนที่ของจักรวรรดิเขมร สวัสดีครับ
ผศ.ปองปรีดา ทองมาดี
(ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต)