28 C
Nakhon Sawan
วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 17, 2025
spot_img

สภาอุตสาหกรรมฯ สัมพันธ์

ผู้อ่านสวรรค์นิวส์และสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์…………………………………….. @ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2568 ขออัญเชิญพระปฐมบรมราชโองการ พระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทย ความว่า

“เราจะสืบสานรักษาและต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ผ่านมา ถือเป็นพระปฐมบรมราชโองการ หรือ คำมั่นสัญญาต่อประชาราษฎรไทย ว่าจะคงไว้และพัฒนาโครงการต่างๆ ของพระราชบิดา พร้อมกับดูแลราษฎรอันเป็นที่รักยิ่งด้วยความถูกต้อง เพื่อนำพาความสุข ความเจริญมาสู่ประเทศชาติตลอดไป

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ อยู่เคียงคู่ฟ้าและแผ่นดินสยามตลอดไป

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า นายวีรวุฒิ บำรุงไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ คณะที่ปรึกษา คณะกรรมการ คณะทำงาน สมาชิก และเจ้าหน้าที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ในโอกาสนี้ขอเชิญชวนสถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม และประชาชนชาวจังหวัดนครสวรรค์ ร่วมแสดงความจงรักภักดี โดยการประดับพระบรมฉายาลักษณ์ ประดับธงชาติไทย และธงพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. ประดับด้านหน้าโรงงาน สถานประกอบการ บ้านเรือน ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2568 นอกจากนี้ในวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม 2568 ขอเชิญร่วมทำบุญตักบาตร ร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลโดยการทำความดี และจุดเทียนชัยถวายพระพรชัยมงคล เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยพร้อมเพรียงกัน

…………………………………….. @สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดตัว มอก.วอทช์ : ระบบ AI ตรวจจับสินค้าออนไลน์ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2568 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเป็นสักขีพยานในงานเปิดตัวระบบตรวจสอบสินค้าออนไลน์อัจฉริยะ “มอก.วอทช์” ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม  โดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธี

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ยกระดับมาตรการคุมเข้มตรวจสอบการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ด้วย AI ซึ่งริเริ่มให้ดำเนินการโดยคณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม (INDX) โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อนำระบบ AI มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการคัดกรองสินค้าไม่ได้มาตรฐานจากโลกออนไลน์ ปกป้องผู้บริโภคไทยจากการใช้สินค้าด้อยคุณภาพ ลดปัญหาการนำเข้าสินค้าราคาถูก แต่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ หน่วยงานที่เข้าร่วมงานเปิดตัว “มอก.วอทช์” เห็นตรงกันว่า ด้วยมาตรการที่เข้มข้นและเทคโนโลยี AI ที่ถูกนำมาใช้โดยกระทรวงอุตสาหกรรม จะทำให้ประเทศไทยไม่ใช่ตลาดสำหรับสินค้าด้อยคุณภาพอีกต่อไป แต่จะเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยสินค้าที่มีมาตรฐานและปลอดภัย เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และให้ SME ผู้ประกอบการไทยยังแข่งขันได้ ในกติกาที่เป็นธรรม

…………………………………….. @ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จับมือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางผลิตภัณฑ์สุขภาพ นวัตกรรมระดับภูมิภาค ร่วมแถลง “ดัชนีอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม” โดยได้รับเกียรติจากนายโฆษิต สุวินิจจิต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดงาน และนายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ส.อ.ท. พร้อมนายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมแถลง เพื่อชี้แจงดัชนีอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม รวมทั้งหารือถึงแนวทางความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคาร OSSC ชั้น 10 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรุงเทพฯ

การแถลง “ดัชนีอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม” ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมแถลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนและส่งเสริมเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศไทย และแก้ไขปัญหาอุปสรรคจากกฎหมาย กฎระเบียบที่มีต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งหารือแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ อันนำไปสู่การส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัย พัฒนา และการผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรม ผ่านกลไกความร่วมมือ 3 ด้าน คือ การส่งเสริมนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ การสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และการจัดทำดัชนีอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพ

นายโฆสิต สุวินิจจิต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม ในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งสอดรับกับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ที่พร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล่านี้ ผ่าน 7 นโยบายด้านเศรษฐกิจสุขภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 6.9 แสนล้านบาทในปี 2568 ส่งผลต่อการเพิ่ม GDP ของประเทศ โดยผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีนวัตกรรม มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จะช่วยเสริมพลังการขับเคลื่อนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพได้เป็นอย่างดี

นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเสริมว่า ส.อ.ท. ได้จัดตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ประกอบด้วย 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ ยา อาหารและเครื่องดื่ม ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ สมุนไพร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งจะร่วมกันขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสุขภาพของอาเซียน ผ่านการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตั้งแต่การพัฒนาด้านวัตถุดิบจนถึงผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ

นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวเสริมว่า อย. พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้นโยบาย Medical Hub ของรัฐบาล เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรม โดยร่วมมือกับ ส.อ.ท. ผ่านกลไกต่างๆ เช่น คณะทำงาน คณะอนุกรรมการ และโครงการ Sandbox โดยเน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรและสินค้ามูลค่าสูง รวมทั้งผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัย พัฒนา และผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรม

ปัจจุบัน อย. ขับเคลื่อนความร่วมมือใน 3 ด้านหลัก คือ

  1. สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ด้วยการจัดตั้ง One Stop Service และยกระดับผู้ประกอบการให้พร้อมขึ้นทะเบียน
  2. เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยส่งเสริมการใช้สถานที่ผลิตร่วมสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย
  3. สร้างความเชื่อมั่น ผ่านกลไกรับฟังข้อเสนอแนะและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ อย. ยังได้จัดตั้ง “กองเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพ” เพื่อพัฒนาดัชนีวัดความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมสุขภาพ และเตรียมนำ Big Data และ AI มาจัดการข้อมูล พร้อมพัฒนาระบบ Track and Trace และฉลากดิจิทัล (Digital Labeling) เพื่อเพิ่มความโปร่งใส เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “อย. เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และก้าวสู่การเป็น Medical Hub อย่างแท้จริง”

…………………………………….. @ กกร. ชี้เศรษฐกิจไทยอ่อนแรง ลุ้นผลเจรจาภาษี เดินหน้าปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม นายผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานการแถลงคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมี นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และดร.พจน์  อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมในการแถลง ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ

กกร. มีแนวทางขอเข้าพบธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ฯ กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงแนวทางในการมองเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วน รวมถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาคการเงินและภาคอุตสาหกรรมในการร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อชี้เป้าอุตสาหกรรมและจัดลำดับความสำคัญต่อไป

เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ยังคงเผชิญความไม่แน่นอนสูง แม้การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ จะมีความคืบหน้า โดยเฉพาะกับจีนและสหราชอาณาจักร แต่ยังไม่น่าที่จะได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม ก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้นหากไม่ขยายเวลา ขณะที่เศรษฐกิจประเทศหลักที่มีแนวโน้มแผ่วลง นอกจากนี้ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางอาจมีความรุนแรงขึ้นได้อีก

การส่งออกไทยในครึ่งหลังของปีจะหดตัว มูลค่าการส่งออกของไทยช่วง 5 เดือนแรกขยายตัว 14.9%YoY จากการเร่งนำเข้าก่อนหมดช่วงผ่อนปรนของมาตรการภาษีของสหรัฐฯ แต่ระยะข้างหน้ามีสัญญาณแผ่วลงและมีความเป็นไปได้ที่มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีจะหดตัวกว่า 10%YoY ทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวใกล้เคียง 0% ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิต การจ้างงาน และรายได้ของแรงงานในห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง

เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีแนวโน้มอ่อนแรงลง คาดทั้งปี 2568 ขยายตัวในระดับต่ำราว 1.5-2.0% โดยจะเติบโตใกล้เคียง 2.0% หากอัตราภาษีที่ไทยโดนเรียกเก็บยังอยู่ที่ 10% ในครึ่งปีหลัง แต่จะลดลงมาใกล้ 1.5% หากโดนเรียกเก็บที่ 18% หรือครึ่งหนึ่งของอัตรา Reciprocal Tariff ท่ามกลางอุปสงค์ภายในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งยังไม่สามารถทดแทนด้วย Long haul ได้ รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2568 ที่เหลืออยู่ และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ นอกจากนี้ กกร.ไม่เห็นด้วยกับการประเมินทิศทางเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ถึง 2.3% ดีขึ้นกว่าประมาณการเดิม

โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นจุดตั้งต้นของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ตามนโยบายรัฐในการขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบโดยไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ 12 ธันวาคม 2567 มีลูกหนี้ลงทะเบียนแล้ว 1.4 ล้านราย เข้าข่ายร่วมโครงการ 6.3 แสนราย คิดเป็นยอดหนี้ 4.6 แสนล้านบาท และล่าสุดได้ขยายสู่ระยะที่ 2 โดยปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการเดิมและเพิ่มมาตรการใหม่ เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้ครอบคลุมมากขึ้น ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการ“จ่ายตรง คงทรัพย์” มาตรการ“จ่าย ปิด จบ” และมาตรการ“จ่าย ตัด ต้น” ซึ่งจะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก ให้แก่กลุ่มเปราะบางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ต้องเร่งคู่ขนานกันไปทั้งในการสร้างรายได้ ผลักดันให้ผู้ประกอบการปรับตัว(transform) เพื่อความสามารถในการแข่งขัน และเสริมสวัสดิการที่จำเป็น รวมถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบและหนี้นอกระบบ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถฟื้นตัวได้อย่างมีศักยภาพ และไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ

กกร. มีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว มาอยู่ในช่วง 32.5 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยแข็งค่ามากกว่าประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และจีน และค่าเงินบาทโดยเปรียบเทียบ (NEER) แข็งค่าเทียบเท่าก่อนปี 2540 ทำให้ธุรกิจแข่งขันไม่ได้ ซึ่งการแข็งค่าไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวอย่างมาก ภาวะการเงินที่ตึงตัวสินเชื่อไม่เติบโต และทิศทางดอกเบี้ยที่อยู่ในภาวะ Inverted Yield Curve หรือการที่ตลาดคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยจะลดลงในระยะข้างหน้า จึงขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เร่งดูแลทิศทางของค่าเงินให้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ แยกแยะและลดผลกระทบจากปัจจัยอื่นที่กระทบค่าเงินบาท เช่น การซื้อขายทองคำ การเกินดุลการชำระเงิน (Balance of Payment) จาก Error& Omission ที่สูงอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

ตัวเลขการส่งออกสินค้าในปัจจุบันที่แม้จะมีการขยายตัวสูง แต่มาจากการนำเข้าที่สูงเช่นกัน สะท้อนจากการผลิตและการจ้างงานที่ยังอยู่ในระดับต่อเนื่องนับตั้งแต่ covid-19 ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีต่อเนื่อง ได้แก่ ปัญหาการสวมสิทธิ์เพื่อการส่งออกสินค้า (transshipment) การนำเข้าสินค้าคุณภาพต่ำที่ยังมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและควบคุม และนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่ไม่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มและสนับสนุนการสร้าง supply chain ในประเทศ การเร่งการแก้ไขปัญหาการสวมสิทธิ์ต้องอาศัยความร่วมมือด้านการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งนอกจากภาครัฐ เอกชนไทย ยังรวมถึงผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาอย่างถูกต้องและสนับสนุนธุรกิจในประเทศ เพื่อยกระดับในการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ

กกร. จึงมีแนวทางที่จะขอเข้าพบ ธปท. สภาพัฒน์ฯ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงแนวทางในการมองเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วน รวมถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาคการเงินและภาคอุตสาหกรรมในการร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อชี้เป้าอุตสาหกรรมและจัดลำดับความสำคัญ เนื่องจากทรัพยากรที่มีจำกัด ในการส่งเสริมการปรับความสามารถในการผลิตของไทย (competitiveness) รวมไปถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าการลงทุนจากต่างชาติที่ ธปท. ร่วมกับ สภาพัฒน์ฯ กระทรวงพาณิชย์ และ กกร. ร่วมกันศึกษา

………………………………………. @ เปิดรับสมัครแล้ว! สอบบัญชีตามมาตรฐานอาชีพ สมัครด่วน!  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) และหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ เปิดรับสมัครผู้เข้ารับการสอบประเมินสมรรถนะของบุคคล ตามมาตรฐานสาขาอาชีพการเงินและประกันภัย อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านบัญชี ระดับ 3, 4 และ 5 สอบในวันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2568 เวลา 09.00 – 12.00 นาฬิกา ออนไลน์ผ่าน Zoom สอบประเมินผ่านระบบ CBT (Computer Based Test) สามารถลงทะเบียนสอบประเมิน : https://forms.gle/RpNuPAkVmq1CmCZj7 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://citly.me/OzXpg สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 091-863-0008 / 02-345-1220 (คุณฟิวส์) 092-335-6600 / 02-345-1221 (คุณมะนาว) E-mail : [email protected] | Line : @HCBI

……………………………@สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จับมือภาคการศึกษา ผนึกกำลัง หนุนฮาลาลไทยโต สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ในโครงการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางดำเนินการส่งเสริมสินค้าและบริการฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก โดยมีนายเวทิต โชควัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายงานอาเซียนและโลจิสติกส์ พร้อมผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิทธิ วงศ์ทองคำ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้แทนในการลงนาม

นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข ประธานคณะทำงานส่งเสริมธุรกิจอาเซียนใต้ ภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมธุรกิจภูมิภาคอาเซียน สายงานอาเซียนและโลจิสติกส์ ได้รายงานวัตถุประสงค์ความร่วมมือ พร้อมด้วยนายกริช อึ้งวิฑูรย์สถิตย์  ประธานคณะกรรมการส่งเสริมธุรกิจภูมิภาคอาเซียน สายงานอาเซียนและโลจิสติกส์ ได้ร่วมกล่าวแสดงความยินดี และมีคณะกรรมการ พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และภาควิชาการเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

ความร่วมมือของทั้ง 3 องค์กรนี้ มุ่งเน้นที่จะทำการศึกษาเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ ปัญหา และข้อจำกัดของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย อันนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนสามารถตอบสนองต่อความท้าทายในการพัฒนาสินค้าและบริการฮาลาลไทยสู่ตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ เศรษฐกิจฮาลาลเป็นตลาดหนึ่งที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในระดับโลก โดยในปี 2567 มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2571 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10-12 ต่อปี และเมื่อมองถึงศักยภาพของประเทศไทยแล้ว ถือว่ามีความโดดเด่นในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกสินค้าฮาลาล เนื่องจากมีความได้เปรียบในด้านวัตถุดิบคุณภาพสูง แรงงานที่มีทักษะ มาตรฐานการผลิตที่เป็นที่ยอมรับ ตลอดจนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมุสลิมการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันในครั้งนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสินค้าและบริการฮาลาลของประเทศร่วมกันต่อไป

…………………………..@ ABTC vs ฟรีวีซ่าจีน – ความต่างที่เหนือระดับ! แม้วันนี้ผู้ถือพาสปอร์ตไทยจะเดินทางเข้าจีนได้ โดยไม่ต้องขอวีซ่า (พำนักได้ 30 วัน) แต่บัตร ABTC ยังให้สิทธิประโยชน์ที่ คุ้มค่าและเหนือกว่า สำหรับนักธุรกิจตัวจริง!

🔹 เข้าเร็ว ไม่ต้องรอ – ผ่านช่องพิเศษ APEC Lane

🔹 พำนักได้นานกว่า – สูงสุด 60 วัน/ครั้ง (ฟรีวีซ่า 30 วัน)

🔹 ประหยัดเวลา คล่องตัว – เหมาะกับการเดินทางเชิงธุรกิจที่ต้องการความรวดเร็ว

🔹 ใช้ได้กับหลายประเทศ APEC – ไม่ใช่แค่จีน!

เหมาะกับนักธุรกิจที่ต้องการ “ความสะดวก ประหยัด และมืออาชีพ”  เดินทางแบบโปร มืออาชีพต้องมี ABTC!

สมัครผ่าน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หรือ ประสานผ่านสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ได้แล้ววันนี้!

คุณสมบัติ: เป็นสมาชิก ส.อ.ท. (ประเภท สน. หรือ ทน.) ตำแหน่ง: ผู้บริหาร / เจ้าของกิจการ / ผู้ถือหุ้น / ผู้จัดการขึ้นไป อายุบัตร 5 ปี ค่าธรรมเนียมเพียง 8,500 บาท

ติดต่อ ฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ กิจกรรมและรายได้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1453 กด 4, 1145 E-Mail: [email protected]…………………………..@ หน่วยงานที่มีข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดนครสวรรค์ สามารถฝากข่าวผ่านสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ หรือต้องการสมัครเป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ติดต่อสอบถามได้ที่ ชาณัฐธนพล  แสงสุข ผู้จัดการสำนักงานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ โทรศัพท์056-245497,081-0428 934 โทรสาร 056-245 498 e-mail: [email protected], https://www.facebook.com/Nakhonsawan.fti

บทความก่อนหน้านี้
บทความถัดไป

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด