คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีนั้น อาจเกิดจากการเรียกร้องเรื่องคุณสมบัติ ความชอบด้วยกฎหมาย การใช้อำนาจในทางมิชอบ ความโปร่งใส่ในการปฏิบัติหน้าที่ ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและประเทศชาติ เช่น การเข้าเป็นหุ้นส่วนหรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจที่มุ่งหากำไรมาแบ่งปันกันหรือเป็นลูกจ้างของบุคคลนิติบุคคลนั้น การทุจริตการเลือกตั้ง การก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเพื่อผลประโยชน์ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบวาระแล้ว การไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ การมีพฤติกรรมฝ่าฝืนปฏิบัติมาตรฐานทางจริยธรรม หรือการกบฏต่อประเทศชาติสมคบคิดกับชาติศัตรู เป็นต้น
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถือว่าเป็นบุคคลสำคัญที่สุดของประเทศชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีในยุคปัจจุบันส่วนมากเกิดจากอำนาจในการแบ่งปันผลประโยชน์ทางการเมืองและผลประโยชน์อื่นๆ มีการต่อรองและเกลี่ยผลประโยชน์กันอย่างลงตัว ทำให้นายกรัฐมนตรีในยุคปัจจุบันพอเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมักจะมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หาช่องทางเพื่อไขว่คว้าผลประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดินให้มากที่สุด ซึ่งต่างจากนายกรัฐมนตรีในสมัยอดีตจะมีจิตใจรักชาติบ้านเมือง มีความทุมเทต่อการบริหารประเทศชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวหรือธุรกิจส่วนตัว พฤติกรรมเหล่านี้จึงเป็นที่มาของคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว มีสาระสำคัญดังนี้
ประวัติความเป็นมาของนายกรัฐมนตรีที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ มีดังนี้ (springnews, 2568 และฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า)
- สมัคร สุนทรเวช สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนในการเลือกตั้งปี 2550 และได้รับการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 มีผลงานในการวางรากฐานด้านคมนาคม เร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและส่งเสริมผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนกระตุ้นการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศให้มากขึ้น ด้วยมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นต้น
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 267 และมาตรา 182 วรรค 1(7) เนื่องจากการที่นายสมัคร สุนทรเวช ได้รับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ รายการโทรทัศน์ ชิมไปบ่นไป และ ยกโขยง 6 โมงเช้า ซึ่งคณะตุลาการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่านายสมัครกระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ทำให้นายสมัคร สุนทรเวช ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งด้วยตามมาตรา 180 วรรค 1 (1) แต่ในระหว่างนี้คณะรัฐมนตรีทั้งหมดจะรักษาการในตำแหน่งไปก่อน จนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามมาตรา 181
- สมชาย วงศ์สวัสดิ์ สำเร็จการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนปี 2551 ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน เนื่องจากกรณีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ประกอบมาตรา 237 วรรคสอง และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน จำนวน 37 คน เป็นเวลา 5 ปี ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
- ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สำเร็จการศึกษาหลักสูตรสำหรับการบริหารจัดการ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ปี 2554 พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเลือก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 มีนโยบายการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น การแก้ปัญหาความสงบชายแดนภาคใต้ เป็นต้น เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง จากกรณีมีส่วนใช้อำนาจแทรกแซงการโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งฐานละเลยต่อหน้าที่ต่อโครงการรับจำนำข้าว กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว ด้วยคะแนนเสียง 190-18 งดออกเสียง 8 คะแนน บัตรเสีย 3 เป็นผลให้ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองห้าปี นอกจากนี้ ยังถูกแจ้งข้อกล่าวหาทางอาญาต่อโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งปัจจุบันคดียังไม่ถึงที่สุด
- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สำเร็จการศึกษาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เหล่าทหารราบ โดยเข้ารับราชการที่กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ปี 2549 ได้รัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (คปค.) มีนโยบายคืนความสุขให้คนในชาติ การกำหนดค่านิยมหลักให้ชัดเจน เพื่อสร้างประเทศไทยให้เข้มแข็ง เป็นต้น เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 ให้รับคำรองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคฝ่ายค้านยื่นขอให้พิจารณาเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าครบ 8 ปี แล้วหรือไม่ พร้อมทั้งสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมา ต่อมาในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยในประเด็นการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 วินิจฉัยให้เริ่มนับความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ในวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ คือ วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 โดยศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ “มิใช่นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560” ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรหรือที่ประชุมร่วมของสองสภา เท่ากับว่าหากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องไป ก็จะสามารถครองตำแหน่งได้จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2568
- เศรษฐา ทวีสิน (2567) สำเร็จการศึกษาปริญญาโทด้านการเงิน มหาวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาแคลร์มอนต์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเลือก เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 นโยบายการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ภายใต้หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน และจะสร้างความเท่าเทียมเพื่อเปลี่ยนไทยสู่ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในอนาคต เป็นต้น เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 ให้ เศรษฐา ทวีสิน พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากปมทูลเกล้าฯ แต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทั้งที่พิชิตเคยต้องคำพิพากษาจำคุกหกเดือนฐานละเมิดอำนาจศาล ศาลรัฐธรรมนูญแจงว่า เศรษฐา ทวีสิน ย่อมรู้หรือควรรู้ได้ว่าพิชิต ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นรัฐมนตรี แต่ยังดึงดันเสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรี รวมถึงการไปพบทักษิณ ชินวัตรก่อนเสนอชื่อ ทำให้ เศรษฐา ทวีสิน มีพฤติกรรมขาดความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
- แพทองธาร ชินวัตร สำเร็จการศึกษาปริญญาโทการจัดการโรงแรมนานาชาติ มหาวิทยาลัยเซอร์รีย์ ปี 2566 แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 มีนโยบายการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ การสร้างรายได้ใหม่ด้วยนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี การยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย เป็นต้น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 9:0 รับคำร้อง สว.ยื่นถอดถอน “แพทองธาร ชินวัตร” ขณะที่มติ 7:2 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราวตั้งแต่ 1 ก.ค.2568 เป็นต้นไป จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด ให้ส่งเอกสารชี้แจงภายใน 15 วัน กรณีคลิปเสียงการสนทนาระหว่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร กับสมเด็จฯ ฮุน เซน ประธาน วุฒิสภาแห่งกัมพูชา
กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี (ศาลรัฐธรรมนูญ,2564)
- หากมีข้อสงสัยว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง สามารถส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้
- หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ารัฐมนตรีมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ “หยุดปฏิบัติหน้าที่” จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย และกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ให้รัฐมนตรีผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่ “วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่” แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ทำไปแล้วก่อนพ้นจากตำแหน่ง
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 170
ผู้มีสิทธิเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี ได้แก่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ นอกจากนี้ กรณีที่ กกต. เห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีคนหนึ่งคนใดสิ้นสุดลง ก็สามารถส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เช่นกัน นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังบัญญัติด้วยว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ารัฐมนตรีมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้อง “หยุดปฏิบัติหน้าที่” จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย และหากท้ายที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง รัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐมนตรีผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่ “วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่”
ประเด็นปัญหา เมื่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคสอง จึงสั่งให้ แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ นักกฎหมายบางส่วนจึงตีความว่า แพทองธาร ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีวัฒนธรรมได้ เพราะจะมีปัญหาตามมาว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดังนี้ (หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, 2568)
นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ มีความเห็นว่า นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญก็ถือว่าเป็นรัฐมนตรีคนหนึ่ง เมื่อนายกรัฐมนตรีถูกสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ด้วยข้อกล่าวหาขาดความซื่อสัตย์ และฝ่าฝืนจริยธรรม นายกรัฐมนตรีจึงอยู่ในสภาวะที่ขาดคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรีด้วย
นักการเมืองฝ่ายค้าน มีความเห็นว่า กรณีนายกรัฐมนตรีนี้ต่างไปจากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ยังปฏิบัติหน้าที่ รมว.กลาโหม ได้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างรอคำวินิจฉัย เพราะคำร้องของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นข้อกล่าวหาตามมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่ใช่คุณสมบัติเรื่องความซื่อสัตย์และจริยธรรม ซึ่งเป็นคุณสมบัติของทั้งคณะรัฐมนตรี
ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ เข้ายื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภา ขอให้ สว. ล่ารายชื่อให้ครบ 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ หรือ 20 คนขึ้นไป เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยถอดถอน แพทองธาร ออกจากตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม
ฝ่ายกฎหมายของนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และยังไม่มีคำวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และเรื่องจริยธรรม แต่ให้พักหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีไม่ได้บอกด้วยว่าให้พักหน้าที่อื่นๆ
การถวายสัตย์ปฏิญาณปฏิบัติหน้าที่ของ รมว.วัฒนธรรม ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด มาตรา 161 “ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้ “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
ฝ่ายกฎหมายของ รมว.วัฒนธรรม อธิบายว่า รองนายกรัฐมนตรีผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี มีอำนาจเหมือนนายกรัฐมนตรีทุกประการ ไม่ว่าจะเป็น การแต่งตั้งโยกย้าย, การทูลเกล้าฯ ถวายร่างกฎหมายให้ทรงลงพระปรมาภิไธย, การรับสนองพระบรมราชโองการ, การปรับ ครม., การยุบสภา และสามารถนำ ครม. ใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณได้
ฝ่ายค้านของ รมว.วัฒนธรรม อธิบายว่า ทุกคนรู้อยู่แล้วว่ามีกรณีอยู่ระหว่างการตัดสินคุณสมบัติโดยศาล ซึ่งหากถึงที่สุดแล้ว อาจกลายเป็นการนำผู้ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่งไปกราบบังคมทูลฯ เข้าเฝ้าฯ ได้
วรงค์ เดชกิจวิกรม มีความเห็นว่า คนที่มีปัญหาความซื่อสัตย์สุจริต ถูกดำเนินคดีโดยศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ คุณจะนำเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ ในคำว่า จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนได้อีก หรือคุณกำลังทำให้เกิดการระคายเคืองหรือไม่ คนที่ยังมีมลทิน จึงไม่ควรนำเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ ให้รอจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเสียก่อน ถ้ายังดื้อดึง เกิดอะไรขึ้น คุณสุริยะต้องรับผิดชอบ
ฝ่ายแกนนำรัฐบาล อธิบายว่า ได้ปรึกษาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) แล้วว่า แพทองธาร สามารถเข้าถวายสัตย์ในฐานะ รมว.วัฒนธรรม ได้ เพราะขณะนี้ยังไม่มีคำวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นรัฐมนตรี แต่ความเหมาะสมหรือไม่ ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนถ้ามีผู้ร้องเรียนการเมืองไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความเรื่องการถวายสัตย์ มีความเป็นไปได้ที่ศาลจะจำหน่ายคดี เนื่องจากเคยมีบรรทัดฐานในอดีตคดีถวายสัตย์มาแล้ว ให้เหตุผลว่า “ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ เพราะการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมืองของคณะรัฐมนตรีในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์”
สำนักข่าวบีบีซีไทย มีความเห็นว่า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เกิดขึ้นในการออกประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี หากมีรองนายกรัฐมนตรีควบ รมว. กระทรวงใดจะโยกสลับตำแหน่ง ก็จะเขียนให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีทั้ง 2 ตำแหน่ง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่พร้อมกัน 2 ตำแหน่งคือ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว. กระทรวงใหม่
ILaw (2568) มีความเห็นว่า คำร้องของ 36 สว. ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไปในขณะที่แพทองธารดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น และคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป ดังนั้น แพทองธาร จะยังสามารถปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้ต่อไป เพียงแต่ห้ามใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี
แสดงให้เห็นว่าตามความเห็นของสำนักข่าวบีบีซีไทยว่า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เกิดขึ้นในการออกประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี หากมีรองนายกรัฐมนตรีควบ รมว. กระทรวงใดจะโยกสลับตำแหน่ง ก็จะเขียนให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีทั้ง 2 ตำแหน่ง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่พร้อมกัน 2 ตำแหน่งคือ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว. กระทรวงใหม่ ในส่วนนี้ก็น่าสนใจ แต่ยังเป็นประเด็นปัญหาที่น่าจะมีข้อยุติในที่สุด เป็นความเห็นต่างระหว่างฝ่ายความเห็นที่ต้องการให้ดำรงตำแหน่งอยู่กับฝ่ายความเห็นที่ไม่ต้องการให้ดำรงตำแหน่ง ผู้เขียนเห็นว่า ถ้ามองในแง่ของการแสดงความสุจริต ก็ไม่ควรเข้าเกี่ยวข้องกับการบริหารบ้านเมือง เนื่องจากการดำรงตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารบ้านเมืองเช่นกัน ควรรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนว่าพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ ถ้ามองในแง่ของการเอาชนะทางการเมือง “ขี่หลังเสือแล้วลงยาก” จึงไม่ยอมลงจากตำแหน่งง่ายๆ ต้องต่อสู่ให้ถึงที่สุด จนถึงวินาทีสุดท้ายจริงๆ ประกอบกับการเป็นนายกรัฐมนตรีของแพทองธาร ชินวัตร ใช่ว่าจะมีอำนาจในการตัดสินใจอะไรโดยลำพังได้ การตัดสินใจจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของพรรคหรือคนอื่นๆ ด้วย สวัสดีครับ
ผศ.ปองปรีดา ทองมาดี
(ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต)