32.8 C
Nakhon Sawan
วันเสาร์, พฤษภาคม 10, 2025
spot_img

กฎหมายเกี่ยวกับเลื่อยโซ่ยนต์

เลื่อยโซ่ยนต์หรือเลื่อยยนต์ เป็นเลื่อยที่เป็นที่นิยมใช้กันมากในวงการเกษตร มีไว้สำหรับตัดต้นไม้หรือกิ่งไม้บริเวณบ้านหรือตามเรือกสวนไร่นา สมัยอดีตเลื่อยยนต์มีราคาแพงราวๆ 3-5 หมื่นบาท มีไว้สำหรับผู้มีอาชีพตัดต้นไม้หรือเลื่อยเป็นไม้แปรรูป

ผู้ประกอบอาชีพต้องขออนุญาตมีเลื่อยยนต์ และผู้ว่าจ้างตัดต้นไม้ก็ต้องขออนุญาตถ้าเป็นไม้หวงห้าม จะมีความยุ่งยากมากหากต้องการที่จะมีเลื่อยยนต์สักหนึ่งเครื่อง

แต่สมัยปัจจุบันเลื่อยยนต์ราคาถูกลงมากเหลือเพียง 1,500 – 3,000 บาท ประชาชนทั่วไปจึงสามารถซื้อไว้ใช้ตัดต้นไม้ในบริเวณบ้านหรือในไร่นาสวนได้หรือเลื่อยไม้แปรรูปสำหรับใช้ภายในครอบครัวได้ ทำให้เกิดความสะดวกสบายมากกว่าสมัยอดีตที่ต้องใช้ไฟเผา ขวาน เลื่อยมือ หรือเลื่อยยมบาล(เลื่อยตะขาบ) เป็นต้น

ดังนั้นในบทความนี้จึงมาทำความรู้จักเลื่อยยนต์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้เลื่อยยนต์ เผื่อประชาชนท่านใดประสงค์จะมีเลื่อยยนต์ตัวเล็กๆ ไว้ใช้ภายในบ้านสักเครื่อง มีสาระสำคัญดังนี้

ความเป็นมาของเลื่อยยนต์ ต้นกำเนิดของเลื่อยยนต์ได้รับการบุกเบิกในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 (ประมาณปี 1783–1785) ได้พัฒนาจากเครื่องมือผ่าตัดทางการแพทย์ โดยแพทย์ชาวสก็อต สองคนคือ John Aitken and James Jeffray เพื่อทำการผ่าตัดออกจากกัน และตัดออกจากกระดูกที่เป็นโรค ได้แสดงไว้ใน Principles of Midwifery ของ Aitken หรือ Puerperal Medicine (1785) ฉบับที่ 2 ในบริบทของ Pelviotomy Jeffray อ้างว่าได้คิดเรื่องเลื่อยโซ่อย่างเป็นอิสระในช่วงเวลานั้น แต่เขาไม่สามารถผลิตได้

จนถึงปี 1790 ในปี 1806 Jeffrey ได้ตีพิมพ์ “กรณีของการตัดข้อต่อของฟันผุโดย H Park and PF Moreau โดยมีการสังเกตการณ์โดย Jeffrey” ในการสื่อสารนี้เขาแปลเอกสารของ Moreau ในปี 1803 Park และ Moreau อธิบายการตัดข้อต่อที่เป็นโรคได้สำเร็จ โดยเฉพาะที่หัวเข่าและข้อศอก

Jeffrey อธิบายว่าเลื่อยยนต์จะช่วยให้แผลเล็กลง และป้องกันมัดระบบประสาทที่อยู่ติดกัน Symphysiotomy มีภาวะแทรกซ้อนมากเกินไปสำหรับสูติแพทย์ส่วนใหญ่

แต่แนวคิดของ Jeffray ได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการพัฒนายาชา เลื่อยยนต์รุ่นต่างๆ ได้รับการพัฒนาขึ้น แต่ในศตวรรษที่ 19 ต่อมา ได้ถูกแทนที่ด้วยเลื่อยลวดบิดของ Gigli อย่างไรก็ตามในช่วงศตวรรษที่ 19 เลื่อยยนต์เป็นเครื่องมือผ่าตัดที่มีประโยชน์มาก

เลื่อยยนต์แบบพกพาเครื่องแรก ได้รับการพัฒนาและจดสิทธิบัตรในปี พ.ศ. 2461 โดย James Shand นักเขียนชาวแคนาดา หลังจากที่เขาอนุญาตให้สิทธิ์ของเขาหมดไปในปี 2473 สิ่งประดิษฐ์ของเขาก็ได้รับการพัฒนาเพิ่มเติม โดยสิ่งที่กลายมาเป็น บริษัท Festo ของเยอรมันในปี พ.ศ. 2476 ปัจจุบัน บริษัท ดำเนินธุรกิจในนาม Festool ผลิตเครื่องมือไฟฟ้าแบบพกพา

ผู้มีส่วนร่วมที่สำคัญอื่นๆ ในเลื่อยยนต์สมัยใหม่ ได้แก่ Joseph Buford Cox and Andreas Stihl หลังได้รับการจดสิทธิบัตรและพัฒนาเลื่อยยนต์สำหรับใช้ในสถานที่ Bucking ในปี พ.ศ. 2469 และเลื่อยยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินในปี พ.ศ. 2472 และก่อตั้งบริษัทเพื่อผลิตในจำนวนมาก ในปี พ.ศ. 2470 Emil Lerp ผู้ก่อตั้ง Dolmar ได้พัฒนาเลื่อยยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินตัวแรกของโลกและผลิตขึ้นเป็นจำนวนมาก (Simon Harper, 2564)

ประเทศไทยได้นำเลื่อยโซ่ยนต์มาใช้ในการทำไม้ ประมาณปี พ.ศ. 2507 ซึ่งจากการเปรียบเทียบความเร็วในการตัดไม้กับเลื่อยธรรมดา ปรากฏว่าเลื่อยโซ่ยนต์ตัดไม้ขนาดเดียวกันได้เร็วกว่าเลื่อยธรรมดาถึง 17 เท่า และมีประสิทธิภาพสูงกว่าเป็นอัตราส่วน 5:1 นอกจากนั้นเลื่อยโซ่ยนต์สามารถตัดไม้ซึ่งมีขนาดความโตเส้นผ่าศูนย์กลางเป็นสองเท่าของความยาวแผ่นบังคับโซ่ (กรมป่าไม้, 2557)

ลักษณะของเลื่อยยนต์ (Chain Saw) หรือเลื่อยโซ่ยนต์ คือเครื่องมือที่ใช้สำหรับตัดไม้หรือตัดแต่งวัสดุชนิดอื่นได้สะดวกและรวดเร็วกว่าการตัดด้วยเลื่อยมือธรรมดา ซึ่งส่วนประกอบสำคัญของเลื่อยยนต์มีทั้งหมด 4 ส่วน ได้แก่ เครื่องจักรกลต้นกำลัง ชุดเฟืองขับโซ่ บาร์โซ่หรือแผ่นบังคับโซ่ และโซ่เลื่อยหรือฟันเลื่อย โดยโครงสร้างของเลื่อยยนต์จะมีลักษณะเป็นเครื่องยนต์แบบใช้มือจับสองมือ ที่ส่วนหน้าของเครื่องยนต์ติดตั้งด้วยบาร์โซ่คล้ายรูปทรงวงรี และโดยรอบบาร์โซ่ประกอบด้วยฟันเลื่อยที่มีความคมสูงและทำหน้าที่ในการตัดเฉือนเนื้อวัสดุให้ขาดออกจากกัน เนื่องจากเลื่อยยนต์เป็นเครื่องมือตัดที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้มีมาตรการทางกฎหมายออกมาควบคุมขนาดของบาร์โซ่ต้องมีความยาวไม่เกิน 12 นิ้ว และกำลังแรงม้าของเครื่องจักรกลต้องไม่เกิน 1 แรงม้า จึงจะสามารถครอบครองได้อย่างถูกกฎหมาย หรือถ้าหากความยาวและแรงม้าเกินกว่าที่กำหนดไว้ข้างต้นจำเป็นต้องขอใบอนุญาตในการใช้งาน ทั้งนี้ในปัจจุบันเลื่อยยนต์มีหลายแบบให้เลือกใช้งานอีกด้วย เช่น แบบมอเตอร์ไฟฟ้าและระบบไฮดรอลิก เป็นต้น (misumi-ec.com, 2561) ดังนั้นผู้ซื้อควรศึกษาว่าเลื่อยยนต์ชนิดใด ขนาดเท่าไร ยี่ห้ออะไร จึงเหมาะสมกับต้นไม้หรืองานที่เราจะนำไปตัด

การเลือกซื้อเลื่อยยนต์ที่ดีที่สุด เลื่อยโซ่ยนต์สมัยใหม่นั้นถูกปรับมาให้เหมาะกับสภาวะการทำงานและผู้ใช้ ก่อนซื้อเลื่อยโซ่ยนต์ ให้ตั้งคำถามว่าคุณจะนำไปใช้งานอย่างไร คำตอบที่ได้จะช่วยให้คุณเลือกเลื่อยโซ่ยนต์ในขนาดและประเภทที่เหมาะสมได้ ดังนี้

(1) ใช้เลื่อยโซ่ยนต์สำหรับงานอะไร จะใช้โค่นต้นไม้ขนาดใดบ่อยที่สุด ไม้แข็งหรือไม้อ่อน ต้องการเลื่อยขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ จะใช้เลื่อยโซ่ยนต์ในฤดูกาลใด

(2) เลื่อยโซ่ยนต์ขนาดเล็กจะควบคุมได้ง่ายกว่าขนาดใหญ่ ถ้าเลื่อยหนักเกินไป มือและแขนของคุณจะล้า ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในระยะยาว

(3) เลือกเลื่อยขนาดใหญ่กว่าที่มีกำลังมากขึ้น ถ้าคุณต้องการโค่นต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะไม้เนื้อแข็ง ถ้าใช้รุ่นที่เล็กเกินไป จะทำให้เลื่อยโซ่ยนต์อยู่ในภาวะใช้งานหนักเกินไปและจะสึกหรอโดยไม่จำเป็น

(4) ความยาวที่เหมาะสมของแผ่นบังคับโซ่นั้นขึ้นอยู่กับขนาดต้นไม้ และความเชี่ยวชาญของผู้ใช้ด้วยบางส่วน ถ้าคุณรู้ว่าคุณจะต้องทำงานกับท่อนไม้/ต้นไม้ที่มีขนาดแตกต่างกัน แนะนำให้คุณซื้อแผ่นบังคับโซ่/โซ่อย่างน้อยสองขนาดแตกต่างกันเพื่อช่วยให้ทำงานได้ง่าย ทั้งกับตัวคุณเองและเลื่อย เลื่อยโซ่ยนต์ทั้งหมดสามารถติดตั้งอุปกรณ์ตัดที่มีความยาวแตกต่างกันอย่างน้อยสองขนาด

(5) ความสมดุลตรวจสอบให้แน่ใจว่าเลื่อยโซ่ยนต์มีสมดุลที่ดีและพอดีในมือของคุณ การเลื่อนการจับควรจะทำได้ง่ายโดยไม่เสียสมดุล ซึ่งจะช่วยคุณในการใช้งานอย่างมาก

(6) ความปลอดภัยใช้อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมเสมอเมื่อคุณทำงานกับเลื่อยโซ่ยนต์

(7) การบำรุงรักษาเลื่อยโซ่ยนต์ของคุณอยู่เสมอเพื่อให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน คุณสามารถทำการบำรุงรักษาระดับพื้นฐานได้ด้วยตัวเอง แต่ควรให้ตัวแทนจำหน่ายในท้องถิ่นของคุณตรวจสอบเลื่อยโซ่ยนต์อยู่เสมอเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ค้นหาตัวแทนจำหน่ายที่อยู่ใกล้คุณที่สุด (Husqvarna, 2558)

กฎหมายเลื่อยโซ่ยนต์ มีกฎหมายที่สำคัญดังต่อไปนี้

  1. พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. 2545 มีสาระสำคัญดังนี้

เลื่อยโซ่ยนต์ หมายความว่า เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล และให้หมายความรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา 4 “ห้ามมิให้ผู้ใดมี ผลิต หรือนำเข้าเลื่อยโซ่ยนต์  เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์

ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งเปลี่ยนแปลงเลื่อยโซ่ยนต์ให้มีกำลังเครื่องจักรกลเพิ่มขึ้นจากที่ระบุไว.ในใบอนุญาต เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์

การออกใบอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์ให้นายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ทำเครื่องหมายที่เลื่อยโซ่ยนต์ ตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง และระบุพื้นที่ที่อนุญาตให้มีหรือใช้เลื่อยโซ่ยนต์ไว้ด้วย

มาตรา 7 ผู้ใดมีเลื่อยโซ่ยนต์ ต้องมีใบอนุญาตหรือสำเนาภาพถ่ายใบอนุญาตสำหรับเลื่อยโซ่ยนต์เครื่องนั้นเพื่อแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทันที

มาตรา 10 ห้ามมิให้ผู้ใดซ่อมแซมเลื่อยโซ่ยนต์เป็นธุรกิจเพื่อสินจ้าง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์

  1. กฎกระทรวง กำหนดลักษณะเลื่อยโซ่ยนต์และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. 2555 มีสาระสำคัญดังนี้

เลื่อยโซ่ยนต์ หมายความว่า (1) เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ทีมีฟันเลื่อยติดกับโซ่ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลที่ผลิตและประกอบสำเร็จรูปเพื่อการใช้งาน ที่มีต้นกำลังตั้งแต่ 1 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ ที่มีขนาดความยาวตั้งแต่ 12 นิ้ว และ (2) ส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือตาม (1) ดังต่อไปนี้ (ก) เครื่องจักรกลต้นกำลังที่มีการออกแบบตัวเครื่องและอุปกรณ์ประกอบตัวเครื่องให้มีลักษณะหรือสภาพเพื่อนำมาประกอบเป็นเครื่องตาม (1) โดยเฉพาะที่มีต้นตั้งแต่ 1 แรงม้า (ข) แผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวตั้งแต่ 12 นิ้ว

แสดงให้เห็นว่าคำว่าเลื่อยยนต์ที่มีความผิดตามพระราชบัญญัติ หมายความว่า ต้องเป็นเลื่อยที่มีเครื่องจักรกลต้นกำลังตั้งแต่ 1 แรงม้า และมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวตั้งแต่ 12 นิ้ว ทำให้มีผู้ผลิตเลื่อยโซ่ยนต์ที่มีกำลังไม่ถึง 1 แรงม้า และมีแผ่นบังคับโซ่มีขนาดความยาวไม่เกิน 12 นิ้ว จำหน่ายเป็นจำนวนมาก

  1. กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตให้มี ผลิต หรือนำเข้าเลื่อยโซ่ยนต์ และการเปลี่ยนแปลงเลื่อยโซ่ยนต์ให้มีกำลังเครื่องจักรกลเพิ่มขึ้น รวมทั้งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาต พ.ศ. 2551 มีสาระสำคัญดังนี้

ข้อ 1 ผู้ใดประสงค์จะขออนุญาตมีเลื่อยโซ่ยนต์ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์ต่อนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ พร้อมด้วยหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอรับใบอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์

ข้อ 2 ผู้ขอรับใบอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์ นอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. 2545 แล้ว ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎกระทรวงนี้ด้วย

ข้อ 9 ในกรณีที่เลื่อยโซ่ยนต์สูญหายหรือชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์แจ้งการสูญหายหรือชำรุดเสียหายนั้นต่อนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์เพื่อให้นายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ประทับตรายกเลิกการใช้ใบอนุญาตดังกล่าวต่อไป

ข้อ 13 ผู้ใดประสงค์จะขออนุญาตผลิตเลื่อยโซ่ยนต์ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ผลิตเลื่อยโซ่ยนต์ต่อนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ พร้อมด้วยหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอรับใบอนุญาตให้ผลิตเลื่อยโซ่ยนต์

ข้อ 23 ผู้ใดประสงค์จะขออนุญาตนำเข้าเลื่อยโซ่ยนต์ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้นำเข้าเลื่อยโซ่ยนต์ต่อนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ พร้อมด้วยหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอรับใบอนุญาตให้นำเข้าเลื่อยโซ่ยนต์

ข้อ 31 ผู้ใดรับใบอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์ซึ่งประสงค์จะเปลี่ยนแปลงเลื่อยโซ่ยนต์ให้มีกำลังเครื่องจักรกลเพิ่มขึ้นจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ให้ยื่นคำขออนุญาตเปลี่ยนแปลงเลื่อยโซ่ยนต์ให้มีกำลังเครื่องจักรกลเพิ่มขึ้นจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตต่อนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ พร้อมด้วยหลักฐานตามที่ระบุในแบบคำขออนุญาตเปลี่ยนแปลงเลื่อยโซ่ยนต์ให้มีกำลังเครื่องจักรกลเพิ่มขึ้นจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต

4 การฝ่าฝืนกฎหมายเลื่อยโซ่ยนต์ มีสาระสำคัญดังนี้

มาตรา 17 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 4 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ (การมี ผลิต หรือนำเข้าเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ขออนุญาต) ต้องระวางโทษจำคุกไม่ไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งริบเลื่อยโซ่ยนต์นั้น เลื่อยโซ่ยนต์ที่ศาลสั่งริบ ให้นำไปใช้ประโยชน์ในราชการ หรือจำหน่ายให้แก่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือทำลายตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

มาตรา 18 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 4 วรรคสอง (การเปลี่ยนแปลงเลื่อยโซ่ยนต์ให้มีกำลังเพิ่มขึ้นโดยไม่ขออนุญาต) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และต้องแก้ไขให้เลื่อยโซ่ยนต์นั้นมีกำลังเครื่องจักรกลเท่าที่ขออนุญาตไว้เดิมภายในเวลาที่ศาลกำหนด หากไม่ปฏิบัติตามให้ศาลสั่งริบเลื่อยโซ่ยนต์นั้น

มาตรา 19 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 6 หรือมาตรา 8 (การใช้เลื่อยโซ่ยนต์นอกพื้นที่ที่อนุญาตให้มีหรือใช้เลื่อยโซ่ยนต์ไว้ หรือการนำหรือให้ผู้อื่นนำเลื่อยโซ่ยนต์ของตนออกไปใช้นอกพื้นที่โดยไม่ขออนุญาต) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 20 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 7 (การใช้เลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่พกพาใบอนุญาต) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

มาตรา 21 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 10 (การซ่อมแซมเลื่อยโซ่ยนต์เป็นธุรกิจมีสินจ้างโดยไม่ขออนุญาต) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

มาตรา 22 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 12 (ผู้ได้รับใบอนุญาตมีเลื่อยโซ่ยนต์ตายโดยทายาทไม่แจ้งให้นายทะเบียน หรือผู้รับใบอนุญาตเป็นนิติบุคคล มีการชำระบัญชีนิติบุคคลโดยไม่นำส่งเลื่อยโซ่ยนต์ให้นายทะเบียน) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

แสดงให้เห็นว่าประชาชนทั่วไปประสงค์จะมีเลื่อยโซ่ยนต์ต้องมีกำลังเครื่องจักรกลต้นกำลังไม่ถึง 1 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวไม่ถึง 12 นิ้ว จึงสามารถครอบครองได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

หากผู้ใดประสงค์จะมีเลื่อยโซ่ยนต์ที่มีขนาดเครื่องจักรกลหรือแผ่นบังคับโซ่ที่มีความยาวมากกว่านี้จะต้องขออนุญาตต่อนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ และต้องศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติและบุคคลไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย และต้องศึกษาขอบเขตของกฎหมายที่อนุญาตให้มีหรือใช้เลื่อยโซ่ยนต์ด้วย

เนื่องจากเลื่อยโซ่ยนต์ในปัจจุบันมีราคาถูกเพียง 1,500 ถึง 3,000 บาท อาจมีไว้ตัดต้นไม้บริเวณบ้านหรือแปรรูปไม้ในบริเวณบ้านไว้ใช้ประโยชน์ในครอบครัว ซึ่งต้นไม้บางชนิดโตเร็วมากทำให้ลำต้นหรือลากของต้นไม้ไปทำให้เกิดความเสียแก่บ้านเรือนหรือทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่นได้ หากเราเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองก็ต้องป้องกันมิให้เกิดความเสียหายขึ้น สวัสดีครับ

 

ผศ.ปองปรีดา ทองมาดี

(ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต)

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด