31.1 C
Nakhon Sawan
วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 22, 2025
spot_img

ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์นั้น เป็นสิทธิขึ้นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ ซึ่งประกอบไปด้วยสิทธิตามธรรมชาติและสิทธิที่มีกฎหมายรับรอง เพื่อให้ทุกคนตระหนักในความสำคัญของสิทธิมนุษยชนและเป็นแนวทางปฏิบัติต่อกันในฐานะเพื่อนมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน โดยตระหนักว่าทุกคนมีสิทธิในชีวิต ในการยอมรับนับถือและในการดำรงชีวิต รวมทั้งในการพัฒนาตนเองตามแนวทางที่ถูกต้อง และเป็นรากฐานของการจัดระเบียบสังคม วัฒนธรรม เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตร่วมกันอย่างสมดุลและเที่ยงธรรมของมวลมนุษย์ในสังคม รวมทั้งเป็นรากฐานสำคัญต่อการจัดระเบียบทางการเมืองและกฎหมายเพื่อความสมดุลแห่งอำนาจด้วย และยังเป็นการปกป้องและส่งเสริมคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งอิสรภาพอธิปไตยของชาติ ที่เป็นพื้นฐานช่องทางนำไปสู่การสถาปนาหลักการสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน (ณรงค์ เหล่าธีระเชาวน์, 2556)

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ให้มากขึ้น ในบทความนี้จะกล่าวถึงกฎหมายที่บัญญัติรับรองหลักศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และการกระทำต่าง ๆ ที่เป็นการละเมิดต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งยังเกิดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากในกลุ่มของประชาชนที่อยู่ในภาวะที่ไม่อาจโต้แย้งหรือเรียกร้องอะไรได้ในสังคมไทย

ความเป็นมาของศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่เกิดจากการประกอบสร้างของหลายวัฒนธรรมและความเชื่อ โดยมีพื้นของฐานคิดที่มาจาก ศาสนาและปรัชญา จุดเริ่มต้นของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เกิดขึ้นใน ยุคสมัยโรมัน ในศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล ถึง ศตวรรษที่ 6 ในคำว่า Dignitas Hominis (Cancik, 2002) ซึ่งเป็นภาษาละตินที่มีความหมายว่า มนุษย์ผู้มีเอกสิทธิ์ สถานะ และความเคารพ โดยคำ ๆ นี้มีความสอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิธีของยุคสมัยและวัฒนธรรมของโรมันในช่วงเวลานั้นอย่างมาก เพราะมนุษย์ผู้มีเอกสิทธิ์ สถานะ และความเคารพ ในที่นี้มีความหมายที่สื่อถึง สถานะทางสังคม อำนาจ ชื่อเสียง และศักดิ์ศรีการเป็นมนุษย์ผู้ที่มีความคู่ควรจึงแสดงถึงการเป็นมนุษย์ที่สูงกว่ามนุษย์คนอื่น ๆ เป็นผู้ที่คู่ควรกับสถานะทางสังคมที่สูงกว่า การมีชีวิตที่ดีกว่า การมีอำนาจที่มากกว่า และการเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีมากกว่าใคร ๆ โดยนิยามนี้อยู่ในช่วงเวลาของยุคก่อตั้งอาณาจักรโรมัน (Founding Period) ประมาณปี 625 ก่อนคริสตกาล โดยวิธีคิดนี้เป็นวัฒนธรรมและกฎหมายที่ใช้ในการปกครองในช่วงเวลานั้น แต่แนวคิดนี้ก็ถูกตั้งคำถามในเวลาต่อมาจากนักปรัชญา นักกฎหมาย และนักวิชาการในช่วงเวลาของยุคโรมันที่เรียกว่า สาธารณรัฐโรมัน (Roman Republic) โดยผู้ที่ได้ตั้งคำถามกับนิยามของ Dignitas เป็นนักปรัชญาและนักกฎหมายชื่อว่า Marcus Tullius Cicero ต่อมาในศตวรรษที่ 18 ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างการเคลื่อนไหวทางสังคมบางอย่าง นำไปสู่ความเชื่อมโยงในวิธีคิดกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่ได้ทำการสร้างประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง (Déclaration des droits de l’homme et du citoyen de 1789) เพื่อประกาศว่า เดิมทีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เคยเป็นเพียงแค่ของเหล่าขุนนาง บัดนี้ได้กลายเป็นของประชาชนทุกคนแล้ว (ยศพล สวัสดี, 2565)

แสดงให้เห็นว่าในยุคคลาสสิกหลักศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เป็นกฎหมายธรรมชาติ เป็นการแบ่งความแตกต่างของมนุษย์กับสัตว์ที่ทำให้มนุษย์เหนือกว่าสัตว์ คือไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เป็นอะไร หากเป็นมนุษย์แล้วย่อมมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ทั้งสิ้น ต่อมาในยุคกลางศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ถือว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่พระเจ้าได้มอบให้กับมนุษย์ คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีเจตจำนงเสรีที่จะสามารถเลือกชีวิตของตนเองได้ ต่อมาในยุคแสงสว่างหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และการเคลื่อนไหวทางสังคม เช่น การใช้ต่อสู้กับแนวคิดของนาซีในช่วงสงครามโลก การสร้างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

ความหมายศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ พจนานุกรมไทยได้อธิบายความหมายของคำว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ไว้ว่า “ศักดิ์ศรี” หมายถึง เกียรติศักดิ์ ซึ่งคำว่า “เกียรติ” หมายถึง ชื่อเสียง การยกย่องนับถือ และคำว่า “ศักดิ์” หมายถึง อำนาจ ความสามารถ กำลัง ฐานะ ซึ่งสอดคล้องกับคำว่า “Dignity” ในภาษาอังกฤษที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน คือ Dignitas หมายถึง เกียรติยศหรือความมีชื่อเสียง

ดังนั้น ความหมายของคำว่า “ศักดิ์ศรี” ทั้งของไทยและต่างประเทศจึงไม่แตกต่างกัน ในอดีตศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงยึดติดกับเกียรติยศของบุคคล ต่อมามีการตีความเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การที่มนุษย์มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุและผล สามารถแยกแยะดีและชั่วได้ ไม่ได้ถือเอายศถาบรรดาศักดิ์เหมือนในอดีต สะท้อนให้เห็นว่าการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในยุคปัจจุบันนั้น เป็นการมองที่คุณค่าของความเป็นมนุษย์เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผลตามธรรมชาติ จึงกล่าวได้ว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือ คุณค่าที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ซึ่งเป็นคุณค่าเฉพาะตัวอันมีที่มาจากความเป็นมนุษย์ ประกอบด้วยชีวิต ร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา กล่าวคือ มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล ความมีเหตุผลของมนุษย์ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองได้และทำให้มนุษย์มีความแตกต่างจากผู้อื่น เมื่อมนุษย์มีคุณค่าจึงมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นหลักการสูงสุดที่มวลมนุษยชาติควรเคารพ (คณาธิป ไกยชน, 2566)

สิทธิมนุษยชน (Human Rights) หมายความถึง สิทธิความเป็นมนุษย์หรือสิทธิในความเป็นคนอันเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนที่เกิดมา สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ไม่สามารถโอนให้แก่กันได้และไม่มีบุคคล องค์กรหรือแม้แต่รัฐ สามารถล่วงละเมิดความเป็นมนุษย์นี้ได้ สิทธิในความเป็นมนุษย์นี้เป็นของคนทุกคนไม่เลือกว่าจะมีเชื้อชาติแหล่งกำเนิดเพศอายุสีผิว ที่แตกต่างกัน หรือจะยากดีมีจน หรือเป็นคนพิการ สิทธิมนุษยชนนั้นไม่มีพรมแดน การกระทำใดที่มนุษย์กระทำต่อกันอย่างหยามเกียรติและละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นคน ไม่ว่าจะเกิดแก่มนุษย์ที่ประเทศใด และไม่ว่าผู้กระทำการละเมิดจะเป็นบุคคล กลุ่มบุคคล หรือรัฐใดรัฐหนึ่งก็ตาม ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน (พงศธร ไชยเสน, 2558)

ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยเริ่มมีการบัญญัติคำว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 อันมีที่มาจากบริบทของกฎหมายระหว่างประเทศ ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2535 ทำให้รัฐบาลต้องตรากฎหมายในระดับรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการรับรองคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้ (คณาธิป ไกยชน, 2566)

มาตรา 4 วรรคหนึ่ง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง แสดงให้เห็นว่าทั้งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเป็นคุณค่าที่อยู่ในระนาบเดียวกันหรือมีคุณค่าในระดับเดียวกัน และเนื่องจากมาตรา 4 ดังกล่าวอยู่ในหมวด 1 บททั่วไป ซึ่งเป็นหมวดที่กำหนดหลักการทั่วไปของรัฐ ถือว่าเป็นสาระสำคัญที่มีลักษณะทั่วไป อันเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของรัฐที่จะให้ความรับรองคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล โดยจะต้องนำเนื้อหาสาระของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาประกอบการตีความสิทธิขั้นพื้นฐานอื่น ๆ ด้วย

มาตรา 25 วรรคแรก “สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

มาตรา 25 วรรคสาม “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้” ซึ่งเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย แม้จะไม่ปรากฏคำว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ในบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมไม่ได้หมายความว่า บุคคลใดที่ถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้วจะไม่สามารถใช้สิทธิในทางศาลได้ เพราะยังสามารถใช้บทบัญญัติในมาตรา 4 ซึ่งเป็นบททั่วไปที่กำหนดให้มีการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้แล้ว และยังเป็นการวางหลักทั่วไปในการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในมาตราอื่น ๆ รวมทั้งมาตรา 25 ในรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งจะต้องยึดถือ คำนึงถึงและปฏิบัติตามในเรื่องการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย

มาตรา 26 วรรคหนึ่ง “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย” ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีการใช้คำว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” แทนคำว่า “สาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ” ที่ปรากฏในมาตรา 29 วรรคแรกของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพื่อให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะแท้จริงแล้วสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ คือ สิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ หรือที่เรียกว่า สิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสารัตถะอันเป็นรากฐานสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยการออกกฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลจะกระทบกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ได้ สะท้อนให้เห็นว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่เหนือกว่าสิทธิและเสรีภาพ รัฐสามารถจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลได้ แต่ไม่สามารถจำกัดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้

ลักษณะการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (1) มีพฤติกรรมที่กระทำการให้มนุษย์กลายเป็นวัตถุโดยฝ่ายอำนาจรัฐ (2) การลงโทษอาญาที่มีลักษณะทารุณโหดร้ายจนเกินไป (3) การหลีกเลี่ยงมิให้มีการได้สิทธิและเสรีภาพ (4) การทำลายชื่อเสียง (5) การเลือกปฏิบัติ (6) การกดดันให้รู้สึกต่ำต้อย (7) การตีตราบาป (8) การตามล่า (9) การเหยียดหยาม (10) การตัดสินอันไม่สมควร (แพรภัทรา เขียวชะอุ่ม, 2565)

การละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในประเทศไทย (พงศธร ไชยเสน, 2558)

  1. กรณีชาวอุยกูร์ที่ลี้ภัยจากจีน โดยชาว “อุยกูร์” ซึ่งเป็นกลุ่มคนมุสลิมที่มีลักษณะชาติพันธุ์ภาษา และวัฒนธรรมเป็นพวกเติร์ก อันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากชาวฮั่นที่เป็นผู้ปกครองและเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ที่ครอบครองดินแดนส่วนที่เหลือของจีน การดำรงอยู่ของชาวอุยกูร์นี่เองที่ทำให้ซินเจียงกลายเป็นมณฑลเดียวของประเทศจีนที่มีชาวมุสลิมเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ รัฐบาลกลางของจีนยังต้องจัดส่งกำลังทหารเข้าไปควบคุมกิจกรรมทางการเมืองและบรรดาอิหม่ามในมัสยิดต่าง ๆ ของเมืองเหล่านั้นอย่างเข้มงวดกวดขัน เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าตนเองกำลังเผชิญหน้าอยู่กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เติบโตมากขึ้น ชาวอุยกูร์จึงละทิ้งบ้านเรือนหนีการกดขี่ของรัฐบาลจีนเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย

แต่รัฐบาลไทยดำเนินการส่งตัวชาวอุยกูร์ให้กับประเทศจีน จึงเท่ากับว่าประเทศไทยได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเพราะการส่งชาวอุยกูร์ให้ทางการจีนเท่ากับส่งเขาไปตาย

  1. กรณีชาวโรฮินจาอพยพจากเมียนมา ผู้อพยพชาว “โรฮิงญา” หรือ โรฮีนจา กลุ่มชาติพันธุ์อันน่าเวทนาบ้างก็ว่ามาจากเมียนมา บ้างว่ามาจากบังคลาเทศ กลุ่มชาติพันธุ์ไร้แผ่นดินที่ขณะนี้ตกอยู่ในภาวะวิกฤตเนื่องจากไร้ถิ่นฐานที่อยู่อาศัยจนกระทั่งบานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการลักลอบเดินทางลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม โดยผู้ลี้ภัยเหล่านี้เลือกประเทศไทยเป็นสื่อกลางเพื่อเดินทางไปยังประเทศที่สาม ชาวโรฮินจาคือคนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในเมียนมาพวกเขาต้องทนทุกข์ระทมมานานในการถูกเลือกปฏิบัติประหัตประหารในลักษณะของทาสหรือพลเมืองชั้นสอง เป็นบุคคลไร้สัญชาติที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมายและต้องตกอยู่ในภาวะถูกกดขี่ ละเมิดสิทธิมนุษยชน
  2. กรณีการใช้แรงงานทาส การใช้แรงงานทาสและการละเมิดสิทธิมนุษยชนเรือประมงอวนลากบนเรือประมงไทยที่ดำเนินการโดยเจ้าของเรือประมงคนไทยและผู้ประกอบการจัดส่งผลิตภัณฑ์อาหารทะเลให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่และบริษัทแปรรูปอาหารทะเลทั่วโลก ได้กลายเป็นประเด็นในไทยและเป็นที่สนใจของสังคมโลก ซึ่งปัญหาแรงงานทาสในห่วงโซ่การผลิตอาหารทะเลที่เราอาจยังไม่รู้คือการประมงเกินขนาดอันเนื่องมาจากอุตสาหกรรมการประมงที่เน้นการจับปลาปริมาณมาก ซึ่งประเทศไทยล้มเหลวต่อการจัดการกับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การทำลายสิ่งแวดล้อม ปัญหาแรงงานทาส การประมงเกินขนาดที่ผิดกฎหมายและใช้เครื่องมือทำลายล้างที่มีผลกระทบกับมนุษย์และท้องทะเลนั้น เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  3. นโยบายการประกาศสงครามกับยาเสพติด และการบริหารจัดการปัญหาการก่อความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในลักษณะต่าง ๆ เช่น การฆ่าตัดตอน การอุ้มฆ่า การซ้อมทรมาน ในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อ พ.ศ.2558 ก็ได้ปรากฏหลักฐานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างชัดเจน เป็นต้น (แพรภัทรา เขียวชะอุ่ม, 2565)

แสดงให้เห็นว่าหลักศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นการเคารพต่อความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น เป็นการการทำที่ทำให้เห็นว่ามนุษย์มีพฤติกรรมแตกต่างจากสัตว์ หากการกระทำใดที่เป็นการละเมิดต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์นั่นหมายความว่า พฤติกรรมนั้นเป็นพฤติกรรมเช่นเดียวกับสัตว์ ดังนั้นการใช้อำนาจในการปฏิบัติระหว่างมนุษย์กับทาส ควรพิจารณาอย่างละเอียด ไม่เช่นนั้นแล้วสังคมทั่วไปที่มีมุมมองโดยยึดหลักสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ตามหลักสากลแล้ว อาจมองว่าเป็นการเหยียบย่ำความเป็นมนุษย์ที่ปฏิบัติอยู่ในองค์การนั้นๆ สวัสดีครับ

 

ผศ.ปองปรีดา ทองมาดี

(ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา)

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด