44.4 C
Nakhon Sawan
วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
spot_img

หน้าที่และความรับผิดของมูลนิธิ

มูลนิธิเป็นองค์การที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการกุศล สาธารณประโยชน์แก่สังคมในรูปแบบต่างๆ โดยไม่แสวงหากำไรหรือเพื่อผลประโยชน์ของคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง เช่น มูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิสายใจไทย มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิสถาบันนิติเวชวิทยา มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิสนับสนุนสถาบันพยาธิวิทยา มูลนิธิสว่างดาวดึงส์ธรรม ฯลฯ แต่เนื่องจากสังคมปัจจุบันมีกลุ่มบุคคลบางประเภทอาศัยความเชื่ออันดีงามของประชาชนแสวงหาประโยชน์เพื่อส่วนตนหรือกลุ่มบุคคลด้วยการจัดตั้งมูลนิธิเป็นจำนวนมาก ดังนั้นบทความเรื่องนี้จะอธิบายเกี่ยวกับความหมาย การจัดตั้ง วัตถุประสงค์ หน้าที่และความรับผิดของมูลนิธิ

ความหมายของมูลนิธิ

Oxford Languages ให้คำจำกัดความไว้ว่า “มูลนิธิ หมายถึง ทรัพย์สินที่จัดสรรไว้โดยเฉพาะสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่น โดยมิได้มุ่งหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน และมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย”

กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ให้ความหมายไว้ว่า “ความสำคัญของมูลนิธิตามกฎหมายอยู่ที่ทรัพย์สิน คือ เป็นการนำเอาเงินสด และอสังหาริมทรัพย์ มารวมกันเข้าเป็นทรัพย์สินเพื่อทำกิจกรรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ดังจะเห็นได้จากหลักเกณฑ์ของการจัดตั้งมูลนิธิ ซึ่งทางราชการได้กำหนดหลักการและจำนวนเงินทุนที่นำมาจดทะเบียนไว้”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า “มูลนิธิ หมายถึง ทรัพย์สินที่จัดสรรไว้โดยเฉพาะสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณะ การศาสนา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ วรรณคดี การศึกษา หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่น โดยมิได้มุ่งหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน และได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว”

สุชาดา กรวิทยาศิลป ให้ความหมายไว้ว่า “มูลนิธิ หมายถึง ทรัพย์สินที่จัดสรรไว้โดยเฉพาะสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณะ การศาสนา ศิลปะวิทยาศาสตร์ วรรณคดี การศึกษา หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่น โดยมิได้มุ่งหาประโยชน์มาแบ่งปันกันและได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการจัดการทรัพย์สินของมูลนิธิ ต้องมิใช่เป็นการหาผลประโยชน์เพื่อบุคคลใด นอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นเอง

มหาวิทยาลัยรังสิต คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ให้ความหมายไว้ว่า มูลนิธิ หมายถึง นิติบุคคลอีกรูปแบบหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและอาญาและนิติบุคคลเพื่อถือครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ซึ่งได้รับมาโดยการจัดสรรให้เป็นของมูลนิธิหรือได้รับบริจาคเพิ่มเติมในภายหลัง โดยวัตถุประสงค์และการดำเนินงานของมูลนิธิ ต้องเป็นไปเพื่อการกุศล สาธารณะ การศาสนา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ การศึกษา หรือเพื่อสาธารณประโยชน์  โดยไม่ได้มุ่งหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน คณะกรรมการจะต้องควบคุมการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และข้อบังคับที่กำหนดไว้ โดยเป็นการ นำเอาเงินสด และอสังหาริมทรัพย์มารวมกันเข้าเป็นกองทุน เพื่อทำกิจกรรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งเป็นไปตาม หลักเกณฑ์ของการจัดตั้งมูลนิธิ”

กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ให้ความหมายไว้ว่า “มูลนิธิ หมายถึง มูลนิธิที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือตามกฎหมายอื่น โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดสวัสดิการสังคม”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 110 ให้ความหมายไว้ว่า “มูลนิธิ ได้แก่ ทรัพย์สินที่จัดสรรไว้โดยเฉพาะสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณะ การศาสนา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ วรรณคดี การศึกษา หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่น โดยมิได้มุ่งหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกันและได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้”

สรุปได้ว่า มูลนิธิ หมายถึง นิติบุคคลที่ได้จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมูลนิธิ และตามระเบียบข้อบังคับของสำนักงานใหญ่ของมูลนิธิเขตพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลหรือสาธารณะประโยชน์ด้านต่างๆ และต้องมิใช่เป็นการหาผลประโยชน์เพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่ง”

การจัดตั้งมูลนิธิ

ตามมาตรา 114 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า “การขอจดทะเบียนมูลนิธินั้น ให้ผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิยื่นคำขอเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ของมูลนิธิจะตั้งขึ้น ในคำขออย่างน้อยต้องระบุเจ้าของทรัพย์สินและรายการทรัพย์สินที่จะจัดสรรสำหรับมูลนิธิ รายชื่อ ที่อยู่และอาชีพของผู้จะเป็นกรรมการของมูลนิธิทุกคน พร้อมกับแนบข้อบังคับของมูลนิธิมากับคำขอด้วย”

การขอจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ ต้องมีรายการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 112 บัญญัติว่า “ข้อบังคับของมูลนิธิอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้ (1) ชื่อมูลนิธิ (2) วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ (3) ที่ตั้งสำนักงานใหญ่และที่ตั้งสำนักงานสาขาทั้งปวง (4) ทรัพย์สินของมูลนิธิขณะจัดตั้ง (5) ข้อกำหนดเกี่ยวกับคณะกรรมการของมูลนิธิ ได้แก่ จำนวนกรรมการ การตั้งกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ และการประชุมของคณะกรรมการ (6) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการมูลนิธิ การจัดการทรัพย์สินและบัญชีของมูลนิธิ (และรายการตามที่สำนักงานใหญ่ของมูลนิธิในเขตพื้นที่กำหนดไว้)

ตามมาตรา 115 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า “เมื่อนายทะเบียนได้รับคำขอแล้วเห็นว่า คำขอนั้นถูกต้องตามมาตรา 114 และข้อบังคับถูกต้องตามมาตรา 112 และวัตถุประสงค์เป็นไปตามมาตรา 110 และไม่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือไม่เป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ และรายการซึ่งจดแจ้งในคำขอหรือข้อบังคับสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิและผู้จะเป็นกรรมการของมูลนิธินั้นมีฐานะและความประพฤติเหมาะสมในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนและออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้แก่มูลนิธินั้น และประกาศการจัดตั้งมูลนิธิในราชกิจจานุเบกษา”

มูลนิธิจะต้องมีทรัพย์สินเป็นกองทุนเริ่มแรก ไม่ต่ำว่าที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ ดังนี้ (1) มูลนิธิต้องมีกองทุนเป็นเงินสดไม่น้อยกว่า 500,000 บาท ถ้าเป็นทรัพย์สินอย่างอื่นต้องมีเงินสดไม่น้อยกว่า 250,000 บาท และเมื่อรวมกับทรัพย์สินอื่นแล้วต้องมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 500,000 บาท (2) มูลนิธิที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการสงเคราะห์ ส่งเสริมการศึกษา การกีฬา ศาสนา สาธารณภัย และเพื่อการบำบัดรักษา ค้นคว้า ป้องกันผู้ป่วยจากยาเสพติด เอดส์ หรือมูลนิธิที่ก่อตั้งโดยหน่วยงานรัฐ ต้องมีทุนทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท

วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 110 ให้ความหมายไว้ว่า “มูลนิธิ ได้แก่ ทรัพย์สินที่จัดสรรไว้โดยเฉพาะสำหรับ “วัตถุประสงค์เพื่อการกุศล สาธารณะ การศาสนา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ วรรณคดี การศึกษา หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่น โดยมิได้มุ่งหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน” และได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้”

เมื่อมีการจัดตั้งมูลนิธิ โดยมูลนิธิจะกำหนดวัตถุประสงค์ตามนโยบายของมูลนิธิแต่ละแห่งว่าจะดำเนินเพื่อการกุศลหรือสาธารณประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องใด เช่น

มูลนิธิชัยพัฒนา มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการพัฒนาอื่นๆ (2) เพื่อส่งเสริม การพัฒนาสงเคราะห์และช่วยเหลือประชาชนในด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และให้สามารถช่วยตัวเองและพึ่งตนเองได้ (3) ดำเนินการใดๆ อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นส่วนรวม (4) ร่วมมือกับส่วนราชการและองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือดำเนินการเพื่อเน้นในการสนับสนุนสาธารณประโยชน์ (5) ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมือง

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ (2) เพื่อให้การสนับสนุนด้านการป้องกันสาธารณภัยทั่วประเทศ (3)  เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือเป็นส่วนรวมแก่ประชาชนที่ได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อนประการอื่น ซึ่งคณะกรรมการบริหารพิจารณาเห็นสมควร และได้รับความเห็นชอบจากนายกมูลนิธิ (๔) เพื่อให้การสงเคราะห์ด้านการศึกษา ทุนการศึกษาแก่เด็กกำพร้าหรือเด็กอนาถาที่ครอบครัวประสบสาธารณภัย ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดีในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ให้การสนับสนุนกิจการของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ (5) เพื่อดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ (6) ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด

มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีวัตถุประสงค์ (1) สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาของคนหูหนวก โดยไม่จำกัดเพศ สัญชาติ และศาสนา (2) ร่วมมือกับสถาบันฝึกอบรมครูสอนคนหูหนวก (3) ส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าโรคเกี่ยวกับหู และการฟื้นฟูสมรรถภาพของคนหูหนวก (4) เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหูหนวก (5) ส่งเสริมคนหูหนวก ให้มีอาชีพเต็มตามศักยภาพ (6) ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการอนุเคราะห์คนหูหนวก

หน้าที่และความรับผิดของมูลนิธิ

หน้าที่และความรับผิดของมูลนิธินั้นจะต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย                     มูลนิธิ นิติบุคคล และตามระเบียบข้อบังคับของมูลนิธิที่จดไว้ในทะเบียน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 122 บัญญัติว่า “มูลนิธิที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 66 บัญญัติว่า “นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำตามหน้าที่ของผู้แทนของนิติบุคคลหรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น นิติบุคคลนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น แต่ไม่สูญเสียสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ก่อความเสียหาย” วรรคสอง “ถ้าความเสียหายแก่บุคคลอื่นเกิดจากการกระทำที่ไม่อยู่ในขอบเขตวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของนิติบุคคล บรรดาบุคคลดังกล่าวตามวรรคหนึ่งที่ได้เห็นชอบให้กระทำการนั้นหรือได้เป็นผู้กระทำการดังกล่าว ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายนั้น”

ดังนั้นมูลนิธิจึงมีหน้าที่ตามกรอบวัตถุประสงค์ที่จดทะเบียนจัดตั้งไว้ และต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งไว้ตามมาตรา 66 ซึ่งวัตถุประสงค์ของมูลนิธิตามกฎหมาย คือ “วัตถุประสงค์เพื่อการกุศล สาธารณะ การศาสนา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ วรรณคดี การศึกษา หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่น โดยมิได้มุ่งหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน” ซึ่งมูลนิธิอาจกำหนดวัตถุประสงค์ตามนโยบายเพื่อการกุศลหรือสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น เพื่อคนพิการ เพื่อผู้ป่วย เพื่อการศึกษา เพื่อพัฒนาสังคม เพื่อคนตาย เพื่อบรรเทาภัยพิบัติ เพื่อเด็ก เยาวชน สตรี ฯลฯ ตามที่ได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ในทะเบียน และมีความรับผิดตามกฎหมายเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาตามมาตรา 67 หากถ้าการดำเนินการตามวัตถุประสงค์นั้นทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น มูลนิธิต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น แต่ถ้าการดำเนินการนั้นไม่ได้อยู่ในกรอบวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ ผู้กระทำและผู้เห็นชอบต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น

แสดงให้เห็นว่าวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ โดยการยื่นผ่านนายทะเบียนตรวจสอบ เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อการกุศล สาธารณะ การศาสนา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ วรรณคดี การศึกษา หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่น โดยมิได้มุ่งหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน แต่เมื่อได้ทะเบียนมาแล้วผู้บริหารจัดการของมูลนิธิบางแห่งได้เบียดบังหรือยักยอกเงินหรือทรัพย์สินของมูลนิธิไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือแบ่งปันกัน บางแห่งอาจใช้มูลนิธิบังหน้าเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัว มีเป็นจำนวนมากและมีคำสั่งให้ยกเลิกเพิกถอนไปจำนวนมากเช่นกัน ผู้สนใจควรอ่านเพิ่มเติมใน “คู่มือการดำเนินงานมูลนิธิและสมาคมของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย” การทำความดีส่วนมากเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนกว่าจะมีความโลภเข้ามาแทรกแซง เมื่อมีความโลภเข้ามาแทรกแซงย่อมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยของคนรอบข้างและประชาชนทั่วไป ดังนั้นการแก้ปัญหาสังคมที่ดีสุดก็คือการลดความโลภของคนและองค์กรลงบ้าง ลดการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นลงบ้าง น่าจะดีขึ้น สวัสดีครับ

 

 

ผศ.ปองปรีดา ทองมาดี

อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์

 

 

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด