44.4 C
Nakhon Sawan
วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
spot_img

รู้จัก “กากอุตสาหกรรม” จัดการอย่างไรให้ถูกต้อง

ของเสียอุตสาหกรรมหรือกากอุตสาหกรรม คืออะไร

ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ระบุว่า “กากอุตสาหกรรม” คือ “สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว” หรือหมายถึง ของเสียหรือสิ่งที่ไม่ใช้แล้วที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน ตั้งแต่กระบวนการรับวัตถุดิบ การผลิต การตรวจสอบคุณภาพ การบำบัดมลพิษ การซ่อมบำรุงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ไปจนถึงการรื้อถอนหรือก่อนสร้างอาคารภายในบริเวณโรงงาน กากตะกอน หรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้น ทั้งที่อยู่ในสภาวะของแข็ง ของเหลว กึ่งแข็ง กึ่งเหลวหรือก๊าซ รวมถึงของเสียอันตรายที่เกิดจากอาคารสำนักงานและที่พักคนงานที่อยู่ภายในบริเวณโรงงาน

 

ประเภทของกากอุตสาหกรรม

กากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมหรือสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ

  1. กากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย (Non – Hazardous waste) หมายถึง ของเสียหรือกากอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ชานอ้อย เศษทองแดง ขี้เลื่อย กล่องกระดาษ เศษกระดาษ เป็นต้น กากอุตสาหกรรมประเภทนี้จะไม่เป็นอันตราย แต่หากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง อาจมีโอกาสส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมได้ โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะส่งกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตรายไปรีไซเคิล โดยวิธีการคัดแยกเพื่อจำหน่ายต่อหรือการปรับปรุงคุณภาพของวัสดุที่ใช้แล้วให้กลับมามีคุณภาพดังเดิมและนำไปใช้ประโยชน์ใหม่อีกครั้ง
  2. กากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย (Hazardous waste) หมายถึง กากอุตสาหกรรมที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนสารอันตราย หรือมีคุณสมบัติที่เป็นอันตราย ตามที่กำหนดในภาคผนวกที่ ๒ ท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. ๒๕๔๘ ยกเว้นสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วหรือกากอุตสาหกรรม ที่ไม่เป็นอันตรายจากสำนักงาน บ้านพักอาศัย และโรงอาหารในบริเวณโรงงาน กากกัมมันตรังสี และมูลฝอยตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ และรวมถึงน้ำเสียที่ส่งไปบำบัดนอกโรงงานทางท่อส่งน้ำ โดยสามารถจัดกลุ่มเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้

ประเภทสารไวไฟ (Ignitable substances)

ประเภทสารกัดกร่อน (Corrosive substances)

ประเภทสารที่เกิดปฏิกิริยาได้ง่าย (Reactive substances)

ประเภทสารพิษ (Toxic substances)

สารที่มีองค์ประกอบของสิ่งเจือปนที่เป็นอันตรายตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น นิเกิล แคดเมียม อุปกรณ์ที่มีปรอท เป็นต้น

 

บทบาทหน้าที่ของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในการกำจัดกากอุตสาหกรรม

การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม จำเป็นต้องใช้กฎหมายในการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด และต้องมีการจัดการอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการกากอุตสาหกรรมมี 3 กลุ่มใหญ่ ซึ่งแต่ละกลุ่มมีหน้าที่ความรับผิดชอบ เพื่อให้การดำเนินการจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างถูกต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขอนามัย ความปลอดภัยของประชาชน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย

  1. โรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม (Waste Generator–WG) เมื่อมีกากอุตสาหกรรมเกิดขึ้น โรงงานมีหน้าที่ในการจัดการให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยตรวจสอบปริมาณ ประเภท และวิธีการกำจัดหรือบำบัด และต้องรายงานการจัดการกากอุตสาหกรรมเหล่านั้นด้วยโดยต้องไปขออนุญาตบำบัดหรือกำจัดจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม
  2. ผู้ขนส่งกากอุตสาหกรรม (Waste Transporter–WT) ในการบำบัดหรือกำจัดนั้น โรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรมจะดำเนินการเองหรือส่งให้ผู้อื่นจัดการแทนก็ได้ หากส่งให้ผู้อื่นบำบัดหรือกำจัดจะต้องมีการขนส่งกากอุตสาหกรรมออกจากโรงงานผู้ก่อกำเนิดฯ (WG) ซึ่งผู้ขนส่งกากอุตสาหกรรม (WT) จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องและได้มาตรฐาน พร้อมกรอกข้อมูลในเอกสารกำกับการขนส่งของเสียอันตราย หรือ เอกสารแสดงการจัดการ : Manifest Form (แบบ กอ.2) ทุกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าการขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายจะไม่เกิดการรั่วไหลในระหว่างขนส่ง
  3. โรงงานผู้รับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม (Waste Processor–WP) หรือ โรงงานอุตสาหกรรมที่ขึ้นทะเบียนโรงงานลําดับประเภทที่ 101, 105 และ 106 ตามบัญชีประเภทของโรงงานอุตสาหกรรมที่จําแนกตามกฎกระทรวงตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน ซึ่งมีลักษณะกิจการจำแนกตามลําดับประเภท ดังนี้

3.1 ประเภทหรือชนิดโรงงานลักษณะที่ 101 โรงงานปรับคุณภาพของเสียโดยรวม (Central Waste Treatment) ลักษณะกิจการที่ดำเนินการ คือ

โรงงานบำบัดน้ำเสียรวมสำหรับน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม : เป็นการบำบัดมวลสารที่มีอยู่ในน้ำเสียและนำกากตะกอนไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป

โรงงานเผากากของเสียรวม (เตาเผาของเสียที่ไม่เป็นของเสียอันตราย/เตาเผาเฉพาะ/เตาเผาร่วม) : เป็นการบำบัดของเสียโดยการใช้ความร้อนเพื่อทำลายมลพิษ และลดความเป็นอันตรายของสารบางอย่าง โดยมีระบบบำบัดมลพิษอากาศและจัดการเถ้าที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง

โรงงานปรับเสถียรกากของเสียที่เป็นอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรม : เป็นการเปลี่ยนสภาพกากของเสียอันตรายให้มีความเป็นอันตรายหรือเป็นพิษน้อยลงด้วยวิธีปรับสภาพความเป็นกรดด่างของกากของเสียให้มีค่าเป็นกลาง และทำให้เป็นของแข็งโดยผสมกับปูนซีเมนต์ เพื่อห่อหุ้มกากของเสีย ป้องกันการชะล้าง เพื่อให้กากของเสียอยู่ในสภาพคงตัวก่อนนำไปฝังกลบอย่างปลอดภัย

3.2 ประเภทหรือชนิดโรงงานลักษณะที่ 105 เป็นโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ลักษณะกิจการที่ดำเนินการ คือ

โรงงานคัดแยกกากของเสีย : เป็นการแบ่งแยกกากของเสียโดยกากของเสียที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกจะถูกส่งไปยังโรงงานต่างๆ เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์อีก และจัดการส่วนที่เหลือจากการคัดแยกอย่างถูกต้องต่อไป

โรงงานฝังกลบกากของเสีย : เป็นการนำกากของเสียไปฝังกลบในหลุมฝังกลบ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ หลุมฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล (Sanitary Landfill) และหลุมฝังกลบอย่างปลอดภัย (Secure Landfill)

3.3 ประเภทหรือชนิดโรงงาน ลักษณะกิจการที่ 106 เป็นการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้งานแล้ว หรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม ลักษณะของโรงงานเป็นการนําผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม ลักษณะกิจการที่ดำเนินการ คือ เป็นการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงาน มาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม เช่น การตาก การอบ หรือการขจัดความชื้นจากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร การบดหรือการล้างผลิตภัณฑ์แก้ว การบดย่อยคอนกรีต อิฐ กระเบื้อง และเซรามิก (Demolition Waste) ให้เป็นมวลหยาบหรือมวลละเอียด (Coarse and Fine Aggregates) การบดย่อยตะกรันจากการหลอมหล่อโลหะ การทำสารปรับปรุงคุณภาพดินจากกากตะกอนระบบบำบัดน้ำเสียแบบชีวภาพ การทำสารปรับปรุงคุณภาพดินจากสารอนินทรีย์ที่ไม่เป็นของเสียอันตราย การกรองหรือการแยกสิ่งปนเปื้อนจากน้ำมันพืชที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอื่น การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (ไบโอดีเซล) จากน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์ที่ไม่ใช้แล้วหรือจากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (ไบโอเอทานอล) จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตรu การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (ไบโอก๊าซ) จากการย่อยสลายกากตะกอนชีวภาพหรือจากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตรในถังปฏิกิริยา (Sludge Digester) การเลือกผู้รับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม (Waste Processor) ที่ได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ โรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม จำเป็นต้องเลือกผู้รับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรมที่น่าเชื่อถือและมีระบบการจัดการที่ได้มาตรฐาน อาทิ โรงงานที่ได้รับตราสัญลักษณ์มาตรฐานโรงงานจัดการกากอุตสาหกรรมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานที่ได้รับรองอุตสาหกรรมสีเขียว อย่างน้อยระดับ 3 ของกระทรวงอุตสาหกรรม โรงงานที่ได้รับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ สำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Eco Factory for Waste Processor) ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ โรงงานผู้รับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรมที่มีระบบการจัดการ เทคโนโลยีที่มั่นใจได้ว่ากากอุตสาหกรรมถูกนำไปจัดการอย่างเหมาะสม ตามลักษณะกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น เป็นต้น และผู้รับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรมมีการดำเนินกิจการถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย

เนื่องจาก “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566” ที่นำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle: PPP) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ กำหนดความรับผิดชอบตั้งแต่ต้นทางโรงงานผู้ก่อกำเนิด ไปจนกว่าสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจะได้รับการจัดการจนแล้วเสร็จ ดังนั้น โรงงานผู้ก่อกำเนิดจึงต้องตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนจะเลือกใช้บริการ

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด