44.4 C
Nakhon Sawan
วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
spot_img

สภาอุตสาหกรรมฯ สัมพันธ์

ผู้อ่านสวรรค์นิวส์และสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์…………………………………………………….. @เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 นายวีรวุฒิ บำรุงไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ นายดัมพ์ พวงเพ็ชร์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ เข้าพบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ และนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อยื่นข้อเสนอขอปรับปรุง (ร่าง)ผังเมืองรวมเมืองนครสวรรค์ ครั้งที่ 4 พร้อมด้วย นายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ นายชุมพิชญ์ เดชะรัฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นายสมศักดิ์ อรุณสุรัตน์ ประธานสภาเทศบาลนครนครสวรรค์ ตัวแทนหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ ร่วมเข้าพบและยื่นข้อเสนอด้วย ณ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพฯ

โดยมีรายละเอียด อาทิ

– ขอเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในพื้นที่สีเขียวอ่อนบริเวณรอบเขากบ เขานกกระเต็น เขาโกรกพม่า เขาดาวดึงส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเช่าอาศัยกับเทศบาลได้อย่างถูกต้อง

– ขอเปลี่ยนแปลงแนวถนน และขนาดถนน 3 เส้นทาง ให้เทศบาลสามารถทำถนนได้จริง

– ขอปรับปรุงข้อกำหนดต่างๆ ในพื้นที่สีเขียว สีเหลือง และข้อกำหนดในการถอยร่น ของถนนสายเลี่ยงเมือง (ทล.122), สายเอเชีย (ทล.1), ถนนนครสวรรค์-พิษณุโลก (ทล.117) ทั้ง 2 ฝั่งให้เหมาะสมเพื่อรองรับกับการขยายตัวของเมือง การขยายตัวของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ของจังหวัดนครสวรรค์

– ปรับพื้นที่สีส้มให้เป็นสีแดง ปรับพื้นที่สีน้ำเงินเป็นสีส้ม ในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ รองรับการขยายตัวของเมือง

– ปรับแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวงให้เอื้อต่อการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมตามความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ เป็นต้น

……………………………………. @นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ร่วมในการแถลงว่า สัญญาณเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง และเศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณบวกที่หนุนการทยอยฟื้นตัว นอกจากนี้ทิศทางนโยบายการเงินของประเทศหลัก เช่น อังกฤษ และยุโรป มีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยเพื่อประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจไม่ได้รีบลดดอกเบี้ยเร็วและแรงเหมือนที่นักวิเคราะห์เคยคาดไว้ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีทิศทางผันผวนอ่อนค่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ในกรอบประมาณการที่ 2.8-3.3% แต่ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูง และข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของไทยที่ทำให้การส่งออกฟื้นตัวได้ช้าและไม่ทั่วถึง อีกทั้งอุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอ เศรษฐกิจไทยจึงต้องการแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจากทั้งนโยบายการคลังในการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นอื่นๆ และนโยบายการเงินซึ่งจะเป็นในรูปของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือการปรับลดค่าธรรมเนียม FIDF อย่างที่เคยทำในอดีต ซึ่งจะช่วยลดภาระทางการเงินให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเติบโตได้ต่ำลงจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบต่อการผลิตและการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีขนาด 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัญหาและไม่สามารถส่งออกได้เต็มศักยภาพ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยหลายรายการ เช่น รถยนต์สันดาป Hard Disk Drive (HDD) และผลิตภัณฑ์พลาสติก ชะลอตัวลงจากปัจจัยทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในขณะที่สินค้าที่ส่งออกได้ดีเป็นสินค้าที่มีความซับซ้อนต่ำ เช่น ยางรถยนต์ และเนื้อสัตว์แปรรูปนอกจากนี้สินค้าบางประเภทเผชิญการแข่งขันจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นภาคการผลิตไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้สอดรับกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยประเทศที่แบ่งขั้วชัดเจนจะหันมาค้ากับประเทศที่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่ขัดแย้งกัน ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องหาโอกาสสร้างความได้เปรียบทางการค้า โดยเลือกกลยุทธ์ที่เฉพาะ “เจาะจง” กับบริบทของแต่ละภาคการผลิตในแต่ละตลาดส่งออก ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิตและความเข้มข้นในการแข่งขันในแต่ละอุตสาหกรรม

กกร.ตระหนักถึงปัญหาของผู้ประกอบการ SME ที่มีศักยภาพแต่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ จึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มกลไกในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อสร้างฐานข้อมูลสำหรับประกอบการพิจารณาสินเชื่อตามกลไกตลาด โดยส่งเสริมให้จดทะเบียนนิติบุคคล โดยยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ 5-7 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการปรับตัว พร้อมปรับเงื่อนไขและเพิ่มทรัพยากรของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเกิดความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น

กกร.ขอขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทย ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการซื้อสินค้านำเข้าออนไลน์ที่ไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการแข่งขันของผู้ประกอบการภายในประเทศ อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดการบูรณาการในการแก้ไขสินค้าไม่มีคุณภาพทั้งระบบ ภาครัฐควรพิจารณาปรับเงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์เขตปลอดอากร (Free Zone) รวมทั้ง เพิ่มความเข้มงวดการตรวจจับสินค้าสำแดงเท็จที่นำเข้าผ่านด่านศุลกากร โดยสนับสนุนเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสแกนสินค้า ตลอดจนเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักให้ประชาชนทราบถึงผลกระทบของการใช้สินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ

……………………………………………………. @สถาบันการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ (สปอ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) จัดอบรมหลักสูตร Carbon footprint 3 หลักสูตรที่มาแรงในตอนนี้!

  1. หลักสูตรการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment :LCA) วันที่ 25-27 เมษายน 2567
  2. หลักสูตรการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product :CFP) วันที่ 23-24 พฤษภาคม 2567
  3. หลักสูตรการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization :CFO) วันที่ 27-28 มิถุนายน 2567

สิทธิประโยชน์จากการอบรม

–  สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

–  ได้รับใบประกาศนียบัตรและสามารถใช้ประกอบการยื่นการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษา CFP กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้

–  ราคาพิเศษสำหรับสมาชิก ส.อ.ท. / นักศึกษาและศิษย์เก่าของ มสธ.

สามารถลงทะเบียนได้ที่https://www.stou.ac.th/link/K3Ims  สอบถามรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติม :https://scitechno.stou.ac.th/…/carbon-footprint…

…………………………………. @ออกบูธแสดงสินค้าในต่างประเทศอ่านทางนี้! โครงการ SME Pro-active เคียงข้าง SMEs ไทย ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ รอบสมัครที่ 2/2567 โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และหน่วยงานพันธมิตร รวมวงเงินสูงสุดถึง 3,300,000 บาท สนับสนุน SMEs ไทยให้สามารถเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างประเทศและกิจกรรม Business Pitching/ Matching สนับสนุนวงเงินสูงสุดครั้งละ 200,000 บาท สูงสุด 6 ครั้งสำหรับงานแสดงสินค้า และ 6 ครั้งสำหรับกิจกรรม Business Pitching/Matching งานแสดงสินค้า/บริการเสมือนจริง Virtual Exhibition สูงสุดครั้งละ 50,000 บาท จำนวน 6 ครั้ง กิจกรรมส่งเสริมการค้าพาณิชย์ข้ามพรมแดน Cross-Border E-commerce สูงสุดครั้งละ 100,000 บาท จำนวน 6 ครั้ง

คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ 1. เป็นผู้ประกอบการไทย มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี (SMEs) 2. คนไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51% 3. มีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ไม่เกิน 500 ล้านบาท 4. เป็นสมาชิกของ DITP และ ส.อ.ท. หรือสภาหอการค้า หรือสภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือ *หมายเหตุ : กรณียังไม่เคยส่งออก ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรและออกงานแสดงสินค้าที่กรมฯรับรอง สมัครเข้าร่วมโครงการ ได้ที่ http://smesproactive.ditp.go.th ศึกษาโครงการเบื้องต้น https://youtu.be/NBbMRCC-bhg รอบการรับสมัครรอบที่ 2/2567 ปิดรับสมัคร 20 เมษายน 2567 (งานที่จัดตั้งแต่เดือนสิงหาคม – 30 กันยายน 2567) สอบถามได้ที่สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 02-345-1108, 1243 Line OA : @SMIPAGE

…………………………………….. @สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 39 จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 250 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ในเดือนมีนาคม 2567 ภายใต้หัวข้อ “มุมมองต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบัน” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ประเมินภาพรวมขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในปัจจัยเฉลี่ยทั้ง 9 ด้าน อยู่ใน “ระดับปานกลาง” ซึ่งท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่มีความเปราะบาง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ทำให้ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวรับมือกับการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม อาทิ กฎระเบียบที่ล้าสมัยและไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ปัญหาผลิตภาพแรงงานและการขาดแคลนแรงงาน ข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม กฎระเบียบทางการค้าที่เป็นอุปสรรค การทุ่มตลาดสินค้า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงได้รับแรงกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน

จากปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม ผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงเสนอให้ภาครัฐเร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมทั้งระบบภายใน 1 ปี โดยเฉพาะการดูแลปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนการผลิตทั้งระบบให้เอกชนสามารถแข่งขันได้ มีการปฏิรูปกฎหมายกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business รวมทั้งการพัฒนาระบบและมาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานที่มีหน้าที่อนุมัติอนุญาต ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญที่ฉุดรั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังได้แนะนำให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนาองค์กรอยู่ตลอดเวลา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ทั้งการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพ การให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นเทรนด์โลก การยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานและพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการตลาด มีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งการพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน (Upskill, Reskill, New skill) เป็นต้น

……………………………………….@มาแล้ว…บริการดีๆ จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ใน FTI Service e-catalog Vol.05 กับสิ่งดีๆ ที่มอบให้ ทั้งการบริการให้คำปรึกษาทางการเงินสำหรับสมาชิก / ธนาคารออมสิน Roadshow ให้บริการสมาชิก / เงินทุนสนับสนุนค่าพื้นที่งานแสดงสินค้า และบริการด้านดิจิทัล / การรับรองด้านสิ่งแวดล้อม / หลักสูตร UpSkill & ReSkill อาทิ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับหัวหน้างาน การขนส่งวัตถุอันตรายฯ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร และเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด / รับสมัครหลักสูตร EEP รุ่น 9 และ Young FTI ELITE รุ่น 10 / บริการ Lab Test ราคาพิเศษสำหรับสมาชิก /  สิทธิประโยชน์สำหรับสมาชิก FTI Membership Privilege Reward 50% สามารถคลิกเพื่อรับข้อมูลได้เลยที่ https://www.smartcatalogue.com/viewer/2859/1/E-Catalog_Vol05 หรือ Call Center 1453

………………………..@อย่าหลงเชื่อ “ประชาชนถูกตัดไฟและยกมิเตอร์ไฟฟ้า โดยไม่เตือน”  จากที่มีการส่งต่อข้อมูลว่า ประชาชนถูกตัดไฟและยกมิเตอร์ไฟฟ้า โดยไม่มีการแจ้งเตือนนั้น ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทย ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจง ไม่เป็นความจริง เนื่องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีรูปแบบใบแจ้งค่าไฟฟ้าและใบแจ้งเตือนค่าไฟฟ้า มีรายละเอียด ดังนี้ คือใบแจ้งค่าไฟฟ้าและใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี  จะจัดส่งให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าตามรอบการใช้ไฟฟ้า โดยผู้ใช้ไฟฟ้ามีระยะเวลาในการชำระ เงินตามที่ระบุในใบแจ้งค่าไฟฟ้า 10 วัน สำหรับกรณียังไม่ได้ชำระเงินตามกำหนด จะมีใบแจ้งเตือนค่าไฟฟ้าค้างชำระ เป็นการแจ้งเตือนกรณีมีค่าไฟฟ้าค้างชำระ จะจัดส่งให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า หลังจากวันครบ กำหนดในใบแจ้งค่าไฟฟ้า มีกำหนดชำระเงิน 7 วัน หากเกินกำหนดระยะเวลาในใบแจ้งเตือน PEA จะดำเนินการงดจ่ายไฟฟ้าตามระเบียบ รับข้อมูลข่าวสารจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทย สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.pea.co.th/ โทร. 02 5890100 หรือติดต่อ 1129 PEA Contact Center รวมถึงการไฟฟ้าในพื้นที่ ………………………..@หน่วยงานที่มีข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดนครสวรรค์สามารถฝากข่าวผ่านสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ หรือต้องการสมัครเป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ติดต่อสอบถามได้ที่ นายชาณัฐธนพล  แสงสุข ผู้จัดการสำนักงานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์  โทรศัพท์056-245497,081-0428 934 โทรสาร056-245 498 e-mail: nakornsawan.fti@gmail.com, https://www.facebook.com/Nakhonsawan.fti

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด